
เทศกาลด้านสภาพภูมิอากาศใหม่ของกรุงเทพฯ จุดประกายการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่ยั่งยืนและเป็นธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคม เป็นพื้นที่ทดลองเพื่อการลงมือแก้ปัญหาและสร้างอนาคตสีเขียวด้วยพลังของพลเมือง นักสร้างสรรค์ และผู้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั่วทั้งภูมิภาค
การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศด้วยพลังของชุมชน กำลังจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อ Bangkok Climate Action Week (BKKCAW) ประกาศจัดเทศกาลครั้งแรก ระหว่างวันที่ 28 กันยายน ถึง 4 ตุลาคม 2568 นี้
BKKCAW ไม่ใช่เพียงแค่งานที่จัดขึ้นในช่วงระยะเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น แต่จะเป็นเวทีที่มีชีวิตชีวาที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อสร้างอนาคตสีเขียวที่ครอบคลุมและยั่งยืน
หัวใจของ BKKCAW คือการเฉลิมฉลองพลังของการลงมือทำร่วมกัน ความคิดสร้างสรรค์ และความเข้มแข็งของชุมชน งานนี้ออกแบบในรูปแบบของเทศกาลในระดับเมือง ที่เชิญชวนชุมชนท้องถิ่น นักสร้างสรรค์ เยาวชน นักวิทยาศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบาย นักกิจกรรม และสังคมในการร่วมสร้างสรรค์แนวทางแก้ไขปัญหาภูมิอากาศที่ทุกคนมีส่วนร่วม สนุกสนานและยืดหยุ่น พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
"การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อทุกคน และเราทุกคนต้องลงมือ ไม่ใช่เรื่องที่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น" ลีโอ ฮอร์น-พัธโนทัย ผู้ดำเนินงานหลัก BKKCAW กล่าว
"จุดมุ่งหมายของ Bangkok Climate Action Week คือการกระตุ้นและเสริมพลังให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนสีเขียว ซึ่งหมายถึงการวางผู้คนไว้ที่ศูนย์กลาง ยกระดับเสียงสะท้อนและแนวทางของชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างพื้นที่ที่ผู้มีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถร่วมกันกำหนดอนาคตได้"
เทศกาลนี้จัดโดย จัสท์ ทรานสิชั่นส์ อินคิวเบเตอร์ (Just Transitions Incubator - JUTI) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยตระหนักถึงบทบาทสำคัญของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ที่อยู่แนวหน้าในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ BKKCAW ตั้งเป้าจะใช้พลังงาน ความคิดสร้างสรรค์ และความมุ่งมั่นของผู้คนในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
เวทีขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบผ่านความร่วมมือ
BKKCAW ท้าทายแนวคิดแบบเดิมๆ ที่มักนำโดยผู้เชี่ยวชาญ ภาครัฐ หรือองค์กรขนาดใหญ่เป็นแกนหลักในการออกแบบวิธีแก้ปัญหา แต่เน้นการยกระดับเสียงสะท้อนและแนวทางที่เริ่มจากรากฐาน ที่สามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบได้อย่างแท้จริง
BKKCAW ขอเชิญชวนร่วมค้นหามุมมองใหม่เกี่ยวกับเมือง ระบบเศรษฐกิจ และโครงสร้างทางสังคมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใส่ใจความห่วงใย ความเป็นธรรม และความยืดหยุ่นพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวให้เป็นส่วนหนึ่งในทุกการขับเคลื่อนเพื่อสภาพภูมิอากาศ
ในงานจะมีการจัดกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ ที่เปิดให้สาธารณชนเข้าร่วม เช่น เวิร์กชอป นิทรรศการ การแสดง ห้องทดลองนโยบาย และงานทดลองที่นำโดยชุมชน เพื่อสร้างพื้นที่ให้กลุ่มคนที่หลากหลายได้แลกเปลี่ยนความคิด สร้างเครือข่าย เรียนรู้ และลงมือทำร่วมกัน
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: จุดศูนย์กลางแห่งการเปลี่ยนแปลง
ในขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ? ตั้งแต่น้ำท่วม คลื่นความร้อน มลพิษทางอากาศ ไปจนถึงการขาดแคลนทรัพยากร ? BKKCAW ขอเชิญชวนให้เกิดความร่วมมือร่วมใจและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับภูมิภาค เชิญชวนให้เมืองและชุมชนต่าง ๆ ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และลงมือทำไปด้วยกัน
"ถ้าเราสามารถหาเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยกัน ก็จะทำให้เกิดผลอย่างจริงจังและยั่งยืน และการที่เราเริ่มลงมือก่อนก็ยิ่งดี และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะร่วมต้อนรับผู้คนให้มาร่วมเดินทางกับเรา" ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว