กรมศุลกากรจัดประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายศุลกากร

ข่าวทั่วไป Friday May 23, 2008 09:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--กรมศุลกากร
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายศุลกากรและเพื่อให้เกิดความโปร่งใส กรมศุลกากรจะจัดให้มีการสัมมนาระดมความคิดเห็น (Focus Group) ร่างกฎหมายศุลกากรและร่างกฎหมายพิกัดอัตราศุลกากรขึ้น ในวันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม 2551 เวลา 09.00 — 16.00 น. ณ ห้องประชุมอาคาร 120 ปี กรมศุลกากร คลองเตย
เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายว่าด้วยศุลกากรบังคับใช้ตั้งแต่ พุทธศักราช 2469 และมีการบัญญัติกฎหมายขึ้นอีกหลายครั้ง จึงมีกฎหมายศุลกากรใช้บังคับหลายฉบับ ทำให้ไม่สะดวกในการใช้งานและยากแก่การทำความเข้าใจ กระทรวงการคลังจึงได้มีนโยบายให้กรมศุลกากรปรับปรุงกฎหมายศุลกากรโดยตราพระราชบัญญัติศุลกากรขึ้นใหม่ ให้ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยศุลกากรฉบับต่างๆทั้งหมดนำมาจัดทำเป็นพระราชบัญญัติศุลกากรฉบับเดียว แล้วจัดทำร่างพระราชบัญญัติศุลกากร และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ที่จำเป็นเร่งด่วน ฉบับต่างๆ ขึ้น อาทิ ร่างพระราชบัญญัติศุลกากรฯว่าด้วยการอนุวัติการให้เป็นไปตามความตกลงเกี่ยวกับการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ร่างพระราชบัญญัติศุลกากรฯว่าด้วยการอนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาเกียวโต(ฉบับแก้ไข)และว่าด้วยการนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการทางศุลกากร และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530..(ว่าด้วยมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 เพื่อให้สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่..)และสอดคล้องกับหลักสากลตามที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญาเกียวโต(ฉบับแก้ไข) เป็นต้น
การยกเลิกกฎหมายว่าด้วยศุลกากรฉบับต่างๆ แล้วนำบทบัญญัติดังกล่าวมาประมวลไว้ด้วยกันเป็นกฎหมายฉบับเดียว จะทำให้ประชาชนทั่วไป และเจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถนำกฎหมายศุลกากรมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการปฏิบัติพิธีการศุลกากรของผู้ประกอบการเกี่ยวกับการนำเข้าและ/หรือส่งออกจะมีความสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้กฎหมายว่าด้วยศุลกากรจะมีความทันสมัย สอดคล้องกับอนุสัญญาหรือความตกลงที่ประเทศไทยทำไว้กับประเทศต่างๆ รวมทั้งพระราชบัญญัติศุลกากรจะมีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น สามารถรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และยังจะทำให้มาตรการในการปกป้องสังคม ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งของกรมศุลกากรมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ