กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--
ผู้อำนวยการและคณาจารย์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นำทีมนักเรียนไทยที่ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 3 จากงาน Intel ISEF 2008 เข้าพบ ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ นายกสมาคมฯ และคณะกรรมการบริหารสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ทีมนักเรียนมัธยมปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เจ้าของโครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง การหมุนของหางเมล็ดหญ้าหนวดฤาษี ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับประเทศจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับการคัดเลือกเป็นส่งไปแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ ในงาน Intel International Science and Engineering Fair 2008 (Intel ISEF 2008) ระหว่างวันที่ 10 — 18 พฤษภาคม 2551 ณ เมืองแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา โดยผู้เข้าแข่งขันเป็นนักเรียนที่มีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ จากทั่วทุกมุมโลก นับเป็นงานแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดมาเป็นปีที่ 58 แล้ว ในงานนี้มีโครงการส่งเข้าประกวดทั้งหมด 1557 โครงการ จาก 55 ประเทศทั่วโลก
ทีมนักเรียนไทยจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้รับรางวัล Grand Awards ประเภททีม อันดับที่ 3
เจ้าของโครงงานประกอบด้วย
1. นายชญา นิ่มจินดา (ปัจจุบันศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช)
2. นางสาวปรารถนา ชุนหคาม (ปัจจุบันศึกษาคณะแพทยศาสตร์ จุฬา)
3. นางสาวอลิศรา ศรีนิลทา (ปัจจุบันศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช)
โดยมี อาจารย์ นิพนธ์ ศรีนฤมล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
โครงงานนี้เกิดจากการสังเกตของนักเรียนว่า ส่วนหางของเมล็ดหญ้าหนวดฤาษี ว่ามีการหมุนในทิศทางที่ต่างกันขึ้นอยู่กับระดับความชื้นที่สัมผัส คือ หากความชื้นภายนอกสูงจะหมุนตามเข็มนาฬิกาและจะหยุดเมื่อความชื้นอยู่ในระดับสมดุล หากความชื้นภายนอกต่ำ หญ้าหนวดฤาษีจะหมุนทวนเข็นนาฬิกา นักเรียนจึงได้ศึกษาโครงสร้างภายในและพฤติกรรม การหมุนของหางเมล็ดหญ้าหนวดฤาษี เพื่ออธิบายกลไกที่เกี่ยวข้องเมื่อทดลองเรื่องความเร็วเชิงมุนและทิศทางในการหมุน พบว่าขึ้นอยู่กับระดับความแตกต่างของความชื้นสัมพันธ์ในบรรยากาศกับหางเมล็ด กลไกนี้เองมีส่วนให้หางเมล็ดหลุดออกจากช่อดอกและแต่ละอันแยกออกจากกันได้ อันเป็นวิธีการที่ช่วยในการกระจายพันธุ์ของพืชชนิดนี้ที่ผ่านการคัดเลือกตามธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้นักเรียนยังมีแนวคิดในการนำหญ้าหนวดฤาษี เพื่อประยุกต์ใช้ในการเมินอุปกรณ์อัดความชื้นของสภาวะการเก็บเมล็ดพันธุ์พืช เช่น ข้าวเปลือก ข้าวโพด เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับสภาพการเก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ยังมีทีมนักเรียนจากโรงเรียนมงฟอร์ดวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้ผ่านการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ของศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ซึ่งเข้าร่วมประกวดในงานเดียวกันนี้ และได้รับรางวัลที่สาม Sigma Xi Award เป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งนำต้นไมยราพมาใช้ผลิตเป็น Particle Board