กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--กรมการค้าต่างประเทศ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า หลังจากที่กรมฯ ได้เผยแพร่เรื่องเกาหลีใต้ออกกฎหมายแม่บทเกี่ยวกับการรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ไปแล้วนั้น บัดนี้ เกาหลีใต้ได้ออกกฎหมายลูก (Enforcement Ordinance) เพื่อออกข้อกำหนดในประเด็นรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ (ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์ http://www.korea-helpdesk.eu/rohs/korea/index.htm)
1. ขอบเขต : ประเด็น WEEE /RoHS ครอบคลุมสินค้า 10 รายการ ได้แก่ เครื่องรับโทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้าที่ใช้ในครัวเรือน เครื่องปรับอากาศ เครื่องคอมพิวเตอร์ (รวมจอภาพและแป้นพิมพ์) เครื่องเสียง โทรศัพท์มือถือ (รวมแบตเตอรี่และเครื่องชาร์จ) เครื่องพิมพ์ เครื่องถ่ายสำเนา และเครื่องโทรสาร
: ประเด็น ELV จะครอบคลุมรถยนต์ 2 ประเภท คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 9 ที่นั่ง รวมคนขับ และรถบรรทุกขนาดเล็ก น้ำหนักไม่เกิน 3.5 ตัน
2. รายการสารต้องห้าม : จำกัดการใช้สารอันตราย 6 ชนิด คือ Pb, Hg, Cr6+, Cd, PBB และ PBDE ในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และจำกัดการใช้สารอันตราย 4 ชนิด คือ Pb, Hg, Cr6+ และ Cd ในสินค้ายานยนต์
3. การออกแบบให้เอื้อต่อการรีไซเคิล : สำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีประเด็นเรื่องการปรับปรุงวัสดุโครงสร้างเพื่อให้เอื้อต่อการรีไซเคิล เช่น การออกแบบชิ้นส่วนพลาสติกให้เอื้อต่อการรีไซเคิล (Material Simplification) การใช้พลาสติกที่ง่ายต่อการรีไซเคิล และการออกแบบให้ถอดแยกชิ้นส่วนได้ง่าย เป็นต้น กรณีสินค้ายานยนต์ มีข้อกำหนดด้านการรีไซเคิลของยานยนต์ (Recyclability) ซึ่งจะประเมินตามมาตรฐาน KS R ISO 22628 โดยตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 รถยนต์ภายใต้ขอบเขตดังกล่าวจะต้องรีไซเคิลให้ได้อย่างต่ำร้อยละ 85 โดยน้ำหนักเฉลี่ย และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป จะต้อง
รีไซเคิลให้ได้อย่างต่ำร้อยละ 95 โดยน้ำหนักเฉลี่ย
4. สินค้าที่นำเข้าตลาดเกาหลีใต้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (วันที่ 1 มกราคม 2551 — 30 พฤษภาคม 2551) จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดภายในวันที่ 1 มกราคม 2554 ซึ่งหมายความว่าก่อนวันที่ 1 มกราคม 2554 จะต้องจำหน่ายสินค้าให้หมดหรือภายหลังวันที่ 1 มกราคม 2554 ต้องถอนสินค้าที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดออกจากตลาด
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่าในปี 2550 เกาหลีใต้เป็นตลาดส่งออกสินค้าที่มีความ สำคัญเป็นอันดับที่ 13 ของไทย โดยเฉพาะสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์มีมูลค่าส่งออกไปเกาหลีใต้ระหว่างปี 2548 — 2550 เฉลี่ยรวมกันปีละประมาณ 36,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2550 มีมูลค่าส่งออกประมาณ 39,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แยกเป็นการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มูลค่า 37,900 ล้านบาท ยานยนต์และส่วนประกอบมูลค่าส่งออก 1,088 ล้านบาท ดังนั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมความพร้อมในการผลิตสินค้าดังกล่าวให้เป็นไปตามข้อกำหนดของเกาหลีใต้ก่อนส่งออกต่อไป