กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--กรมการค้าต่างประเทศ
ตามที่มีข่าวว่า ญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการพิจารณานำข้าวที่มีอยู่ในสต๊อก ซึ่งเป็นข้าวที่ญี่ปุ่นนำเข้าภายใต้ข้อผูกพันของ WTO ผ่านการประมูลโดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงของญี่ปุ่น ซึ่งมีประมาณ 1.5 ล้านตัน ระบายออกขายในตลาดโลก โดยมีเจตนาที่จะผ่อนคลายสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลก โดยล่าสุดอยู่ระหว่างการหารือกับฟิลิปปินส์เพื่อขายข้าวที่มีอยู่ในสต๊อกประมาณ 200,000 ตัน นั้น
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ มีความเห็นว่า การที่สมาชิก WTO ได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการผลักดันให้ญี่ปุ่นยอมเปิดตลาดข้าวตั้งแต่การเจรจารอบอุรุกวัยนั้น มีจุดประสงค์หลักเพื่อให้นำมาใช้ภายในประเทศในรูปของการบริโภคและใช้ในอุตสาหกรรมภายใน ไม่ใช่นำเข้าเพื่อนำไป Re-export โดยตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวประมาณปีละ 6-7 แสนตัน แหล่งนำเข้าสำคัญได้แก่ ไทยและสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านมาญีปุ่นใช้ข้าวจำนวนที่นำเข้าดังกล่าวเพื่อใช้บริโภคภายในประเทศอาทิเช่น ใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเหล้าสาเก เหล้าโชจู หรือแครกเกอร์ เป็นต้น
ทั้งนี้ การที่ญี่ปุ่นมีแผนที่จะนำข้าวออกมาขายนั้นควรพิจารณาให้รอบคอบเพราะนอกจากจะผิดวัตถุประสงค์ของ WTO แล้ว ยังจะก่อให้เกิดการบิดเบือนตลาดและทำให้สถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลกผันผวนไปมากกว่าเดิม โดยตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ภาวะราคาข้าวได้เริ่มส่งสัญญาณราคาที่จะกลับสู่จุดสมดุล ไม่ผันผวนมากเหมือนในช่วง 4 เดือนแรกของปี การที่ญี่ปุ่นจะ Re-Export ก็จะเป็นการกดราคาในตลาดโลกให้กลับไปสู่ภาวะที่ไม่ปกติอีก (Depressed price) เปรียบเสมือนตัดวงจรการผลิตการค้าข้าว ซึ่งจะทำให้เกษตรชาวนาในประเทศผู้ปลูกข้าวรวมทั้งไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและหากเกษตรกรชาวนาขาดแรงจูงใจในการปลูกข้าวและหันไปทำอาชีพอื่น ก็จะเกิดผลกระทบระยะยาวต่อผลผลิตข้าวโลก ทำให้สถานการณ์อาหารโลกกลับไปสู่ภาวะเลวร้ายยิ่งกว่าเดิมมาก และเห็นว่าหากญี่ปุ่นต้องการช่วยเหลือประเทศที่ประสบภัยพิบัติและขาดแคลนอาหารให้ได้ผลอย่างแท้จริง ควรดำเนินการผ่านหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น World Food Programme ของสหประชาชาติ และน่าจะให้ความช่วยเหลือในด้านการเงิน (In-cash) มากกว่า นางอภิรดีกล่าว