ไบโอดีเซลน้ำมันทดแทน กับเครื่องดีเซล

ข่าวทั่วไป Friday May 23, 2008 15:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--กรมการค้าต่างประเทศ
ประเทศไทย มีรถยนต์ทุกชนิดเครื่องดีเซล ๖.๔ ล้านคัน และ เรือยนต์เครื่องดีเซล อีก ๕๐,๐๐๐ ลำ ที่จดทะเบียนไว้ ฉะนั้นรวมเครื่องยนต์ดีเซลทั้งประเทศ จึงมีประมาณ ๖.๔๕ ล้านเครื่อง ที่ต้องใช้น้ำมันดีเซลสำหรับขับเคลื่อน ในปี ๒๕๔๘, ๔๙ และ ๕๐ ยอดการจำหน่ายน้ำมันดีเซลเป็นจำนวนปีละ ๑๙,๒๓๑ , ๑๘,๒๑๓ และ ๑๘,๐๓๘ ล้านลิตร มูลค่า ๓๘๔,๘๑๒ , ๔๘๕,๓๗๗ และ ๔๖๒,๘๘๕ ล้านบาท หรือ เฉลี่ยจำหน่ายวันละ ๕๓.๖ , ๕๐.๒ , และ ๕๑.๑ ล้านลิตร ตามลำดับ ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบจากทุกแหล่งผลิตทั่วโลกขยับขึ้นสูงและไม่มีท่าทีหยุดนิ่งเนื่องจากการผลิตและความต้องการที่ยังขาด ๆ เกิน ๆ ประกอบกับการเก็งกำไรน้ำมันดิบ ในตลาดหุ้น อันเนื่องมาจากความอ่อนไหวและความมั่นคงด้านพลังงานทั่วทุกมุมโลก
ประเทศไทยหลีกหนีไม่พ้นในผลกระทบนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในทุกภาคการผลิตที่ขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ของสังคมชาวเมืองและชาวชนบทในชีวิตประจำวัน การปรับตัวโดย การหาพลังงานทางเลือกอื่นมาทดแทนน้ำมันดีเซล ที่เรียกว่าไบโอดีเซลที่มาจากผลผลิตทางการเกษตร เช่น ปาล์มน้ำมัน ตลอดจนน้ำมันใช้แล้ว ผลิตไบโอดีเซลเพื่อใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล จึงมีบทบาทมากขึ้น ในช่วงปีข้างต้น น้ำมันไบโอดีเซลทางเลือกใหม่ตามปั๊มบริการประกอบด้วย ปาล์มดีเซล และไบโอดีเซลบี 5 มียอดขายทั่วประเทศปริมาณ ๑๐.๔๓ , ๔๖.๗ และ ๖๒๙.๖๓ ล้านลิตร หรือ เฉลี่ยวันละ ๐.๐๓ , ๐.๑๑๘ และ ๑.๗๑๘ ล้านลิตร ตามลำดับ โดย ปาล์มดีเซล และไบโอดีเซล บี 5 มีราคาถูกกว่าดีเซลลิตรละ ๐.๕๐ - ๐.๗๐ บาท
นับจากวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๑ เป็นต้นมา น้ำมันดีเซลที่จำหน่ายในประเทศไทย ต้องมีส่วนผสมของไบโอดีเซลบี ๑๐๐ ระดับ ๒ ส่วนในทุกๆ ลิตรที่จำหน่าย ซึ่งต้องใช้ไบโอดีเซลบี ๑๐๐ เป็นส่วนผสม บนความต้องการน้ำมันดีเซลทั่วประเทศเฉลี่ยวันละ ๕๐ ล้านลิตร ซึ่งหากบังคับใช้เป็นไปตามนี้ ความต้องการน้ำมันไบโอดีเซล บี ๑๐๐ เพื่อนำไปผสม สูตรไบโอดีเซล บี ๒ อยู่ที่วันละ ๑.๐ ล้านลิตร ถ้าเป็น สูตรไบโอดีเซล บี ๕ อยู่ที่วันละ ๒.๕ ล้านลิตร หรือหากมีการส่งเสริมทั่วประเทศใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี ๕ ได้ ถึง ๑ ใน ๓ หรือเท่ากับ ๑๗ ล้านลิตร ต่อวัน ซึ่งต้องใช้ไบโอดีเซลบี ๑๐๐ วันละ ๘๕๐,๐๐๐ ลิตรหรือ ปีละ ประมาณ ๓๑๐ ล้านลิตร ซึ่งประเทศสามารถลดการนำเข้าน้ำมันดีเซลธรรมชาติได้เท่ากับจำนวนดังกล่าวนี้ ที่มี มูลค่า ๑๐,๕๐๐ ล้านบาท (ณ ราคาขายปลีกที่ ๓๓.๙๔บาท) อย่างไรก็ดี กำลังการผลิตในปัจจุบัน ปตท มีเป้าหมายผลิตไบโอดีเซลบี ๑๐๐ ประมาณ ปีละ ๒๐๐ ล้านลิตร หรือเฉลี่ยวันละ ๕๕๐,๐๐๐ ลิตร บางจาก สามารถผลิต ได้วันละ ๒๐,๐๐๐ ลิตร และกำลังสร้างเพิ่มกำลังการผลิตเป็น ๓๐๐,๐๐๐ ลิตร ซึ่งหากรวมทั้งสองค่ายใหญ่ จะมีกำลังผลิตไบโอดีเซลบี ๑๐๐ ออกมาวันละประมาณ ๘๕๐,๐๐๐ ลิตรต่อวัน และโรงงานที่เหลืออยู่ กับผลผลิตของชุมชน ซึ่งคาดว่าจะผลิตได้ไม่เกินวันละ ๕๐,๐๐๐ ลิตร ซึ่งรวมประมาณกำลังการผลิตทั้งประเทศน่าจะไม่เกินวันละ ๙๐๐,๐๐๐ ลิตร ( ถ้ามีวัตถุดิบเต็มที่) หากย้อนกลับไปพิจารณาในปี ๒๕๕๐ การจำหน่ายไบโอดีเซลบี ๕ ได้รับการสนองตอบจากผู้ใช้รถยนต์ดีเซลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มาอยู่ที่ระดับวันละ ๑.๗ ล้านลิตร ซึ่งต้องใช้ไบโอดีเซลบี ๑๐๐ ผสม วันละ จำนวน ๘๕,๐๐๐ ลิตร ซึ่งจำนวนผสมนี้เพียงพอกับการผลิตจริงของไบโอดีเซล บี ๑๐๐ ในปัจจุบัน
ความเป็นไปได้ในการขอนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ
ปัจจุบันไทยผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ประมาณปีละ ๐.๙๔- ๑.๒ ล้านตัน ในพื้นที่รวมทั้งสิ้น ๓ ล้านไร่ แหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ทางใต้ของประเทศ คือ กระบี่(๓๔%) สุราษฎร์ธานี (๒๖% )ชุมพร (๑๘%) สตูล(๘%) ตรัง (๔%) และอื่นๆ ใช้บริโภคภายในประเทศประมาณปีละ ๙๐๐,๐๐๐ ตัน และยังมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ ระหว่าง ๓- ๔๐,๐๐๐ ตัน และส่งออกในรูปของน้ำมันบริสุทธิ์สำหรับประกอบอาหาร ปีละ ๓ - ๓๗๐,๐๐๐ ตัน โดยปีหนึ่งจะมีน้ำมันปาล์มดิบเหลือจากการบริโภค ปีละ ๒๐๐,๐๐๐ ตัน หรือ ๒๐๐ ล้านลิตร เฉลี่ยวันละ ๕๕๐,๐๐๐ ลิตร เพื่อนำเข้าผลิตเป็นไบโอดีเซล ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงงานที่จะนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล บี ๑๐๐ เพื่อจำหน่ายให้กับ ปตท. และ บางจาก ผู้ค้าน้ำมันดีเซลที่จะนำไปผสม เป็นไบโอดีเซล เมื่อโรงงานผลิตไบโอดีเซลทุกโรงเปิดดำเนินการเต็มที่ ตามกำลังการผลิต และคำนึงถึงความต้องการไบโอดีเซลบี ๑๐๐ เพื่อนำไปผสมเป็นบี ๒ ภาคบังคับ และบี ๕ ซึ่งเป็นทางเลือก แล้ว วัตถุดิบคือน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศขณะนี้ น่าจะเพิ่มขึ้นไม่ทันกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นเร็วและสูงกว่า การขอนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ จึงมีความเป็นไปได้สูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์ม ปี ๒๕๕๑ - ๒๕๕๕ เพิ่มการปลูกปาล์มน้ำมัน และคาดว่าในปี ๒๕๕๕ จะมีน้ำมันปาล์มดิบเป็นปริมาณ ๒.๘๗ ล้านตัน เพื่อการบริโภคและส่วนที่เหลือสามารถนำไปเพิ่มผลผลิตไบโอดีเซลบี ๑๐๐ สนองความต้องการในการนำไปเป็นส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิงไบโอดีเซล บี ๒ - บี ๕ หรือในส่วนผสมที่สูงกว่าขึ้นไปในอนาคต ซึ่งเป็นการบูรณาการแนวนโยบายของกระทรวงพลังงาน และส่งเสริมการปลูกพืชน้ำมันและสร้างรายได้ในกับประชาชนในพื้นที่
ข้อมูลการวิจัยทางเทคนิค ของสหรัฐอเมริกา โดยมหาวิทยาลัยไอดาโฮ ในปี ๑๙๗๙ ผลการวิจัยสรุปได้ว่า น้ำมันไบโอดีเซลบี ๑๐๐ ที่ ได้จากน้ำมันพืชที่แตกต่างกัน ๓ ชนิด คือน้ำมัน ถั่วเหลือง เรฟซีด และ แคโนล่า กับ น้ำมันจากไขวัว ที่ผ่านกระบวนการเคมีทั้ง เอทิลและเมทิล เอส เตอร์ สามารถนำไปใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล สี่สูบ ไดเรคอินเจคชั่น ติดเทอร์โบ โดยเครื่องยนต์ดีเซล ไม่ปรากฏแสดงถึง ระบบท่อจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง กรองน้ำมันเชื้อเพลิง หรือหัวฉีด ตีบตัน และมีการสึกหรอในเครื่องยนต์ผิดปกติไปกว่าการใช้น้ำมันดีเซลธรรมชาติ เช่น แหวน ลูกสูบ และผนังกระบอกสูบ สลักก้านข้อเหวี่ยง ข้อเหวี่ยง ชาร์ป และ ตลับลูกปืน แต่กำลังเครื่องยนต์อาจเสียบ้าง โดยลดลงร้อยละ ๕ แรงบิด (ทอร์ค) ลดลงร้อยละ ๔ ความร้อนพลังงานลดลง ร้อยละ ๖ ควันดำลดลงร้อยละ ๗๐ และกินน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ ๘ เทียบกับดีเซลธรรมชาติ ที่สำคัญคือ คุณภาพมาตรฐานของไบโอดีเซล บี ๑๐๐ ต้องเป็นไปตามกำหนด และมีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวด เพื่อให้มีการผลิต น้ำมันไบโอดีเซลบี ๑๐๐ ให้ได้คุณภาพมาตรฐานสม่ำเสมอ เมื่อนำบี ๑๐๐ ไปผสมในสูตร ไบโอดีเซล บี ๒ — บี ๕ ก็จะได้น้ำมันที่ผลิตออกมามีคุณภาพมาตรฐานเป็นหนึ่งเดียวกันทุก ๆ ล๊อต ไบโอดีเซล จึงเป็นพลังงานทางเลือกใหม่ที่มีส่วนดีคือ ลดการพึ่งพาน้ำมันดีเซลบางส่วนจากภายนอกประเทศ ลดภาวะโลกร้อน ลดควันไอพิษ ลดค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรผู้ใช้เครื่องจักรยนต์ดีเซล แต่ยังมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าน้ำมันดีเซลธรรมชาติ และหากมองไกลออกไปอีก อาจจะมีผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกพืช หากมุ่งเน้นปลูกพืชสำหรับใช้เป็นพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น อาจจะกระทบต่อการปลูกพืชอื่น ๆ ที่ใช้เป็นอาหารของมนุษย์โดยตรง.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ