สุวิทย์ รุกแก้ปัญหาโลจิสติกส์เตรียมเสนอครม. ไฟเขียวให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ

ข่าวทั่วไป Friday May 23, 2008 16:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--บีโอไอ
รองนายกฯ สุวิทย์ เร่งแก้ปัญหาโลจิสติกส์ของไทย รวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บริการแบบ Single Window พร้อมเร่งรัดค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ดำเนินการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการใช้รถในยุคน้ำมันแพง
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการนำคณะหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทย อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สถาบันอาหาร และบริษัทผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย มาหารือกับบริษัทผู้นำเข้าและผู้ค้าปลีกอาหารรายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้แก่ อิโตชู , อิออน , นิชิเร และอิโต โยกาโดะ ว่า บริษัทญี่ปุ่นสนใจจะนำเข้าอาหารจากไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งอาหารทะเลสด-แช่แข็ง เนื้อสัตว์ ผัก-ผลไม้ และอาหารแปรรูป โดยคาดว่ามูลค่าการนำเข้าอาหารจากไทยจะเพิ่มขึ้นอีก2 — 3 เท่า จากเดิมที่มูลค่าการนำเข้าอาหารจากไทยปีละ 6,000-7,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการของไทยจะต้องร่วมมือกันดูแลการผลิตและส่งออกตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดและสุขอนามัย ซึ่งญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างยิ่ง หลังจากที่ญี่ปุ่นประสบปัญหาเรื่องสารพิษตกค้างในเกี๊ยวซ่าและไก่จากบางประเทศ จนกระทบความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนำเข้าอาหารจากบางประเทศน้อยลง
อย่างไรก็ตาม ผู้นำข้าวของญี่ปุ่นยังกังวลเรื่องการขนส่งหรือโลจิสติกส์ของไทย ซึ่งปัจจุบันมีขั้นตอนมากและสิ้นเปลืองเวลาถึง 10 วัน ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรและอาหารที่เน่าเสียง่าย ดังนั้น จึงให้กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกันหาข้อสรุปและเสนอมายังกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเสนอคณะรัฐมนตรีออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการบริหารราชการแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อให้สามารถรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาไว้ในที่เดียว ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ส่งออกได้อย่างมาก และจะทำให้สามารถส่งออกสินค้าได้มากขึ้นด้วย
“เราอยากเห็นระบบ single window และใช้เทคโนโลยีไอทีที่สามารถให้บริการได้ 7 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความมั่นใจให้ผู้นำเข้าของญี่ปุ่นได้มากขึ้น” นายสุวิทย์ กล่าว
นอกจากนี้ นายสุวิทย์ และคณะผู้บริหารบีโอไอ ได้หารือกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่น คือ ฮอนด้า และโตโยต้า ซึ่งได้เสนอให้มีการดำเนินโครงการอีโคคาร์ หรือรถประหยัดพลังงานให้เร็วขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ลงทุน และผู้ต้องการใช้รถประหยัดพลังงาน รวมถึงประเทศไทยที่จะลดการใช้น้ำมันลงได้
สำหรับการสัมมนาเรื่องปีแห่งการลงทุนไทย หรือ Thailand Investment Year 2008-2009 ที่นครโอซาก้า ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คน โดยได้เชิญชวนให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ เจเทปป้า ซึ่งที่ผ่านมาทั้งไทยและญี่ปุ่นยังใช้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้ไม่เต็มที่ ซึ่งขณะนี้บีโอไอกำลังจะตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาสนับสนุนการลงทุนภายใต้กรอบข้อตกลงดังกล่าว โดยจะมีศูนย์ช่วยเหลือนักลงทุนให้สามารถใช้ประโยชน์จากเจเทปป้าได้มากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ