กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย แนะคนไทยควรเรียนรู้วิธีรับมือภัยพิบัติ ทางธรรมชาติ และการดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัยภายใต้สถานการณ์ภัยพิบัติ พร้อมเตรียมตนให้พร้อมรับมือกับภัยพิบัติฉุกเฉินด้วยตนเองในสถานการณ์ต่างๆ และตระหนักอยู่เสมอว่าภัยธรรมชาติเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้ ทุกที่ และทุกเวลา โดยในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ ควรตั้งสติให้มั่น อย่าตื่นตระหนก ปฏิบัติตามหลักความปลอดภัย ก็จะช่วยให้สามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์ภัยพิบัติได้อย่างปลอดภัย
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า เหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กีส พัดถล่มประเทศพม่า และเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง ๗.๙ ริกเตอร์ ที่เกิดขึ้นในมณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า ๑ แสนราย และประชาชนไร้ที่อยู่อาศัยหลายล้านคน นับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งรุนแรงของโลกที่เกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียงประเทศไทยซึ่งเกิดในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน แม้ว่าทั้ง ๒ เหตุการณ์จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นและมีความถี่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดความสูญเสียจาก ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น ก็คือ การเตรียมความพร้อมและเรียนรู้วิธีการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยในช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติ ควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับภัยธรรมชาติประเภทต่างๆ รวมทั้งเรียนรู้การดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัยภายใต้สถานการณ์ภัยพิบัติ เช่น ศึกษาเส้นทางการอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย และหาที่หลบในที่กำบังซึ่งมีความแข็งแรงในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว เป็นต้น และเรียนรู้วิธีการรับมือภัยพิบัติฉุกเฉินด้วยตนเองในสถานการณ์ต่างๆ เช่น การใช้ถังดับเพลิงเมื่อเกิดเพลิงไหม้ เป็นต้น ที่สำคัญควรตระหนักอยู่เสมอว่าภัยธรรมชาติเป็นเรื่องใกล้ตัวมนุษย์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ ทุกที่ และทุกเวลา จึงต้องหมั่นติดตามพยากรณ์อากาศ เฝ้าสังเกตสัญญาณเตือนภัยหรือเหตุผิดปกติต่างๆ ที่บ่งชี้ว่าอาจเกิดภัยพิบัติขึ้นในไม่ช้า ให้ความสนใจต่อคำเตือนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้คาดการณ์แนวโน้มการเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ ควรจัดเตรียมเครื่องอุปโภค บริโภค อาหารแห้ง เครื่องดื่ม และยารักษาโรคไว้ในที่พักอาศัยให้พร้อม เพื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน รวมทั้งติดตั้งระบบความปลอดภัยในอาคารบ้านเรือน หลีกเลี่ยงการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ เช่น พื้นที่ที่กีดขวางทางไหลของน้ำ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย ตลอดจน ให้ความสำคัญกับการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ให้สามารถลดผลกระทบจากสภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่ หากตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ควรสร้างบ้านในลักษณะยกพื้นใต้ถุนสูงแบบบ้านสมัยโบราณ หรือหากตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว ควรสร้างบ้านให้มีโครงสร้างมีความยืดหยุ่น เช่น บ้านไม้ เนื่องจากสามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ดี ในระหว่างเกิดภัย ควรตั้งสติให้มั่น อย่าตื่นตระหนกตกใจ หรือแตกตื่นจนเกินเหตุ ปฏิบัติตนตามข้อแนะนำเกี่ยวกับหลักความปลอดภัยในการเผชิญกับภัยพิบัติอย่างเคร่งครัด ติดตามข้อมูลข่าวสาร คำแจ้งเตือน และวิธีปฏิบัติตนเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด อย่าเผยแพร่ข่าวลือหรือหลงเชื่อข่าวลือ อย่างเด็ดขาด เพราะอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้น
นายอนุชา กล่าวต่อว่า แม้มนุษย์จะไม่สามารถหยุดยั้งการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ แต่การเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติ เรียนรู้วิธีการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติด้วยตนเอง พึงระลึกอยู่เสมอว่า ภัยพิบัติถือเป็นเรื่องใกล้ตัว เตรียมตนให้พร้อมในการรับมือภัยพิบัติตลอดเวลา รวมทั้งไม่ประมาท มีสติอยู่เสมอ และไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป ก็จะช่วยให้สามารถ เอาตัวรอดจากสถานการณ์ภัยพิบัติได้อย่างปลอดภัย