กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
ส่งท้ายเดือนมิถุนายน ด้วยโปรแกรม ๑๐๐ หนังไทยที่คนไทยควรดู อาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายนนี้ เวลา ๑๕.00 น.เป็นต้นไป อุทยานการเรียนรู้ร่วมกับหอภาพยนตร์แห่งชาติได้คัดสรรภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ถ่ายทำโดยฝีมือคนไทยในสมัยรัชกาลที่ ๗ มาให้ชมกันถึง 6 เรื่องได้แก่
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก (พ.ศ.๒๔๖๘) เป็นภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกองภาพยนตร์เผยแพร่ข่าว กรมรถไฟหลวงจัดทำขึ้น เพื่อจำหน่ายแก่ผู้สนใจและเก็บไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกพิธีกรรมตามลำดับขั้นตอนของพระราชพิธีสำคัญตามโบราณราชประเพณีของไทย
การเล่นซนของเด็กสมัย ร.๗ (พ.ศ ๒๔๗๓) เป็นภาพยนตร์ประเภทหนังบ้านนิรนาม บันทึกการเล่นซนอวดหน้ากล้องของเด็กๆ ชาย-หญิง สมัยรัชกาลที่ ๗ สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของหนังฝรั่งในสังคมสยามและโลกในยุคสมัยนั้น
ชมสยาม (พ.ศ.๒๔๗๓) สร้างโดยกองภาพยนตร์เผยแพร่ข่าวกรมรถไฟหลวง จัดเป็นภาพยนตร์แนะนำประเทศสยามต่อชาวต่างชาติ ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นตัวอย่างในการมองตนเองและอวดตนเองต่อชาวต่างชาติ ถ่ายทำโดยหลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) ช่างถ่ายหนังสำคัญของสยามในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒
กิจการกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม (พ.ศ.๒๔๗๓) เป็นภาพยนตร์ส่วนพระองค์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ขณะทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมในรัชกาลที่ ๗
งานแห่รัฐธรรมนูญ (พ.ศ.๒๔๗๖) เป็นภาพยนตร์ส่วนพระองค์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงบันทึกภาพงานแห่ฉลอง รัฐธรรมนูญ หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ปวงชนชาวสยาม มีขบวนแห่รถยนต์ประดับตกแต่งพานเทิดรัฐธรรมนูญ ขบวนแห่ในแม่น้ำ และปะรำพิธีใน ท้องสนามหลวง
แหวนวิเศษ (พ.ศ.๒๔๗๒) สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงมีพระราชนิยมในภาพยนตร์อย่างยิ่ง ทรงถ่ายภาพยนต์อย่างที่เรียกว่า ภาพยนตร์สมัครเล่นไว้ กว่า 500 ม้วน ซึ่งหากนำมาฉายอย่างต่อเนื่อง จะต้องใช้เวลานานถึง ๔ วัน ๔ คืน แหวนวิเศษ เป็นภาพยนตร์ชนิดเดินเรื่องที่ทรงพระราชนิพนธ์ และกำกับการแสดงเป็นตัวอย่างของภาพยนตร์เงียบที่สมบูรณ์ที่สุดของชาติที่ยังเหลืออยู่
หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมคลิกไปที่
www.tkpark.or.th หรือสำรองที่นั่งได้ที่ 0-2250-7620
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด โทร 0-2434-8300
สุจินดา แสงนภา อาภาภรณ์
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--