วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล จัด 2 โครงการดนตรียักษ์ พร้อมเปิดตัวบัตรคนรักดนตรี

ข่าวทั่วไป Friday September 23, 2005 14:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--124 คอมมิวนิเคชั่นส
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัด 2 กิจกรรมใหญ่เพื่อเยาวชน ได้แก่ โครงการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ ครั้งที่ 7 ชิงถ้วยพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ โครงการค่ายวงดุริยางค์เยาวชนนานาชาติ แห่งภาคพื้นอุษาคเนย์ ครั้งที่ 3 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนดนตรีของไทยมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนให้ทัดเทียมกับนานาชาติ พร้อมเปิดตัวบัตรคนรักดนตรีที่ผู้ซื้อสามารถเข้ารับชมคอนเสิร์ตของวิทยาลัยฯ ได้อย่างจุใจในราคาย่อมเยาว์
สำหรับโครงการแรก คือ โครงการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติครั้งที่ 7 (The Seventh Asian Symphonic Band Competition หรือ ASBC) ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการประกวดที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้วงดุริยางค์เครื่องเป่าของโรงเรียนทั่วประเทศไทยได้มีโอกาสแสดงศักยภาพด้านดนตรีในระดับนานาชาติ เยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของดนตรีและรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ซึ่งการประกวดนี้จะมีวงดุริยางค์ทั้งจากประเทศไทยและจากประเทศต่างๆ ในเอเชียใต้ ได้แก่ สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย ไต้หวัน บรูไน เกาหลี ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง และอินโดนีเซีย เข้าร่วมประกวดทั้งสิ้นจำนวน 22 วง โดยมีเงินรางวัลสูงสุดถึง 1,000,000 บาท
รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยดุริยางคศิลป์กล่าวว่า “ในปัจจุบันประเทศไทยมีวงดุริยางค์เครื่องเป่าเป็นจำนวนมาก โดยในแต่ละปีวงดุริยางค์เหล่านี้จะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันทางดนตรีหลายครั้ง ทำให้ประเทศไทยต้องเสียดุลการค้าในการเสียค่าใช้จ่ายให้กับประเทศที่มีการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาทต่อปี การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานเอง จะมีผลดีขึ้นในหลายๆ ด้าน ทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้กับวงดุริยางค์เครื่องเป่าของไทยได้เข้าร่วมในการประกวดระดับนานาชาติมากขึ้น ส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยและนำรายได้เข้าประเทศเนื่องจากมีวงดุริยางค์จากนานาประเทศมาเข้าร่วมประกวด ช่วยกระตุ้นบรรยากาศทางด้านศิลปวัฒนธรรมดนตรี และยังเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ห่างไกลยาเสพติดอีกด้วย”
รศ.ดร.สุกรียังกล่าวต่ออีกว่า “จุดประสงค์อีกประการที่สำคัญมากในการจัดการประกวดครั้งนี้ ก็เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฐานะที่พระองค์ท่านทรงเป็นดุริยกวี เป็นอัครศิลปิน เป็นที่ขนานนามว่าพระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางดนตรีที่เป็นเลิศ โดยแต่ละวงจะบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ ของในหลวง เพลงประจำชาติของแต่ละประเทศ และเพลงอิสระอื่นๆ”
โดยการประกวดจะมีขึ้น 2 รอบด้วยกัน รอบแรกจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม 2548 เวลา 9.00-18.00 น. และรอบชิงชนะเลิศในวันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม 2548 ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจไม่แพ้โครงการแรกคือ โครงการค่ายวงดุริยางค์เยาวชนนานาชาติแห่งภาคพื้นอุษาคเนย์ ครั้งที่ 3 (South-East AsianYouth Symphony Orchestra and Wind Ensemble หรือ SAYOWE) ซึ่งเป็นการรวบรวมเยาวชนอายุระหว่าง 14-25 ปี ที่มีความสามารถทางดนตรีสูงจากประเทศในกลุ่มภูมิภาคอุษาคเนย์ 10 ประเทศ คือ ลาว กัมพูชา เมียนม่า มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ บรูไน อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย จำนวน 142 คน แบ่งออกเป็น 2 วงด้วยกัน คือวงดุริยางค์ซิมโฟนี (เครื่องสาย) และวงดุริยางค์เครื่องเป่า มาเข้าค่ายเพื่อพัฒนาศักยภาพวงดุริยางค์ของเยาวชนในกลุ่มประเทศอาเซียนสู่ระดับนานาชาติ รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เทคนิค และเทรนด์ใหม่ๆ ทางดนตรี และเพื่อสร้างความสมานฉันท์ของเยาวชนอาเซียนโดยอาศัยดนตรีเป็นสื่อ ทั้งนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรี และครูดนตรีที่มีความสามารถในระดับนานาชาติ 20 ท่าน และศิลปินรับเชิญ 4 ท่าน ได้แก่ คริสท็อฟ ไวน์เนเค่น เคลาดิโอ โบโฮเควซ อลัน แม็คเมอเรย์ กอร์ดอน สเต๊าท์
สำหรับค่ายวงดุริยางค์เยาวชนนานาชาติแห่งภาคพื้นอุษาคเนย์ ครั้งที่ 3 จะจัดขึ้น ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างวันที่ 1-9 ตุลาคม 2548 และมีการแสดงพิเศษของทั้งสองวงในวันสุดท้าย โดยมีนักดนตรีเอกของโลก อาทิ เคลาดิโอ โบโฮเควซ นักเชลโล และ กอร์ดอน สเต๊าท์ นักมาริมบา มาเป็นนักดนตรีรับเชิญแสดงร่วมกับวงเยาวชนดนตรี และทั้งสองโครงการสำหรับเยาวชนนี้ ผู้สนใจทั่วไปสามารถรับบัตรชมคอนเสิร์ตได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดใด
นอกจากนี้ หอแสดงดนตรีของวิทยาลัยฯ ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว มีระบบเสียงอันทันสมัย ซึ่งสามารถอัดแผ่นจากการแสดงบนเวทีได้ในทันทีที่คอนเสิร์ตจบ พร้อมเก้าอี้ระดับเฟิร์สคลาสที่นั่งสบาย มีเครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ เรียกได้ว่าเป็นหอแสดงดนตรีขนาดเล็กที่พร้อมที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ ทางวิทยาลัยฯ จึงได้จัดคอนเสิร์ตเป็นประจำทุกค่ำคืน ตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป โดยคอนเสิร์ตนั้นจะมีความหลากหลายแตกต่างกันไปทุกวัน ตั้งแต่การแสดงดนตรีไทยๆ แบบลิเกไปจนถึงวงออร์เคสตร้าเพื่อตอบรับผู้มีรสนิยมทางดนตรีและไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน
พร้อมกันนี้ทางวิทยาลัยฯ จึงได้ถือโอกาสเปิดตัวบัตรคนรักดนตรีขึ้น ซึ่งเป็นสมาร์ทการ์ดสำหรับผู้มีเสียงเพลงในจิตใจ โดยสามารถเข้าชมคอนเสิร์ตได้ถึง 100 ครั้ง หรือ 100 ที่นั่ง ตลอดระยะเวลา 1 ปี พร้อมรับส่วนลดพิเศษในร้านวิทยาลัย และร้านอื่นๆอีกมากมาย
รศ.ดร.สุกรีย้ำว่า “ความคิดริเริ่มในการขายบัตรคนรักดนตรีนี้ เกิดขึ้นมาเพื่อให้คนไทยที่มีใจรักในเสียงเพลงสามารถเข้าชมคอนเสิร์ตดีดีจากทางวิทยาลัยฯ ได้ในราคาถูก ให้คนไทยได้มีโอกาสดูของดีดีกัน เพื่อจะได้ยกระดับรสนิยมทางดนตรีให้สูงขึ้น รวมทั้งเป็นการพักผ่อนหย่อนใจที่ดีอีกทางหนึ่งด้วย”
สำหรับผู้สนใจสามารถหาซื้อบัตรได้ที่วิทยาลัยฯ โรงเรียนดนตรีเอื้อมอารีย์ เซ็นทรัลปิ่นเกล้า และโครงการศึกษาดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป สาขาเสรีเซ็นเตอร์ และ สยามพาราก้อน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 800 2525 หรือทางเวบไซต์วิทยาลัย www.music.mahidol.ac.th
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
อลิซาเบท วงศ์วาสิน, รวินท์พร เตชะกำพุช
บริษัท 124 คอมมิวนิเคชั่นส จำกัด (มหาชน)
โทร. 02 662 2266 ต่อ 216, 219
แฟกซ์ 02 204 2662
อีเมล์ lisa@124comm.com, rawinporn@124comm.com--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ