กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
ภาพโดยรวมของฉาก “พระแสงดาบคาบค่าย” คือ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ยกกองทัพที่มี ไพร่พล ๕๐๐,๐๐๐ นาย ช้าง ๓,๐๐๐ เชือก ม้า ๑๐,๐๐๐ ตัว ออกเดินทางจากหงสาวดี เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๑๒๙ ผ่านด่านแม่ละเมามาสมทบกับกองทัพของพระมหาอุปราชา ซึ่งปลูกข้าวอยู่ที่กำแพงเพชร กับกองทัพของพระเจ้าเมืองเชียงใหม่ ที่ยกกองทัพเรือมาสมทบ
กองทัพของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงเดินทางมาถึงอยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๑๒๙ ก็เริ่มสร้างค่าย โดยพระเจ้าหงสาวดี ตั้งค่ายหลวงที่ตำบลบางปะหัน (ขนอมปากคู) พระมหา อุปราชา ตั้งค่ายกุ่มดอง (ขนอมบางตะนาว) พระเจ้าแปรตั้งค่ายสีกุก พระเจ้าเชียงใหม่ตั้งค่ายที่ตำบลวัดสังฆาวาส นอกจากนั้นแล้วยังมีค่ายเล็กค่ายน้อยอีกเป็นจำนวนมาก
เชื่อว่าก่อนที่พม่าจะตั้งค่ายได้เสร็จ สมเด็จพระนเรศวรของเราก็เข้าตีค่ายของกองหน้า ซึ่งจะใกล้เมืองที่สุด พระองค์ทรงนำทหารร้อยกว่าคน (๑๑๖ นาย) เข้าตีค่าย (คงจะเป็นราวๆ วันที่ ๒๐ ธันวาคม ถึง ปลายปี) เดาว่าจะมีทหารบางส่วนออกมาวางขวากหนามเครื่องป้องกัน สมเด็จพระนเรศวรคงจะฆ่าฟันทหารเลวเหล่านั้น และคงจะทำลายเครื่องกีดขวางขวากหนามเหล่านั้น ทหารพม่าไม่ทันรู้ตัวต่างพากันหนีกลับเข้าค่าย ปิดประตูค่ายลงดาล สมเด็จพระนเรศวรเข้าโจมตีปล้นค่ายโดยการคาบพระแสงดาบแล้วปีนนำไพร่พลขึ้นปล้นค่ายด้วยพระองค์เอง แต่พระองค์ทรงถูกหอกของพวกทหารพม่าตกลงจากกำแพง ทำให้ปล้นไม่สำเร็จ ต้องถอยทัพกลับเข้าเมืองในที่สุด
ข้อมูลที่น่าสนใจ
พระแสงดาบคาบค่าย คือ หนึ่งในเครื่องศัสตราวุธที่มหาเถรคันฉ่องมอบให้พระนเรศวร เป็นดาบเหล็กน้ำพี้คมกริบ ลงอักขระเลขยันต์ ด้ามคร่ำทองประดับทับทิม สายมือถือถักด้วยเส้นทอง
การสร้างค่าย มีทหารประจำอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ คน เป็นค่ายที่มี (ค่ายกองหน้าของพม่า) คู, ประตู, หอรบ พร้อมสรรพ กำแพงของค่ายจะทำด้วยต้นตาลที่เสี้ยมปลายแหลม ปักอยู่บนพูนดิน ที่พูนดินจะมีไม้ไผ่เสี้ยมปลายแหลมเป็นขวากกันไม่ให้ศัตรูเข้ามาประชิดกำแพงค่ายได้ง่ายๆ
นักแสดงหลักในฉาก
พระนเรศวร รับบท โดย ร.อ. วันชนะ สวัสดี (เบิร์ด)
พระเอกาทศรถ รับบท โดย พ.ต. วินธัย สุวารี (ต๊อด)
ออกพระราชมนู รับบท โดย นพชัย ชัยนาม (ปีเตอร์)
พระชัยบุรี รับบท โดย ปราปต์ปฎล สุวรรณบาง (ปราป)
พระศรีถมอรัตน์ รับบท โดย พ.ต. คมกริช อินทรสุวรรณ (ต้น)
ฉากสำคัญ และ แผนการถ่ายทำ ภาพยนตร์เรื่อง “นเรศวร” ภาพยนตร์เรื่องยิ่งใหญ่แห่งปีภายใต้การกำกับของ “ท่านมุ้ย” - ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล
ความคืบหน้าและแผนการถ่ายทำ
ณ ปัจจุบัน ได้ดำเนินการถ่ายทำคืบหน้าไปแล้วกว่า ๓๐%
ระดมทีมงานทุกฝ่ายเดินหน้าเต็มกำลัง หลังจากที่ได้เตรียมงานด้านฉาก และอุปกรณ์ประกอบฉาก การตระเวนหาสถานที่ถ่ายทำนอกเหนือจากฉากหลักที่ค่ายสุรสีห์ กาญจนบุรี รวมถึงการหาข้อมูลและเกร็ดประวัติศาสตร์เพิ่มเติมจากพงศาวดาร ตลอดจนแหล่งข้อมูลต่างๆ และ ปรับบทให้ลงตัวยิ่งขึ้น
การสร้างฉากมีความคืบหน้าค่อนข้างมาก ทั้งในส่วนของอยุธยาและพม่า รวมถึงฉากภายในสถานที่สำคัญอย่างพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท และสีหาสนบัลลังก์ของเมืองหงสาวดี
วางแผนถ่ายทำฉากยากๆ หรือฉากรบที่สำคัญๆ ที่มีนักแสดงร่วมเข้าฉากนับร้อยนับพันคนให้เสร็จเรียบร้อยก่อน จากนั้นจึงทยอยถ่ายทำฉากย่อยอื่นๆ ต่อไป
ฉากยิ่งใหญ่และโดดเด่น
ฉากที่ค่อนข้างยากและยิ่งใหญ่ของ “นเรศวร” มีหลายฉากที่ได้ถ่ายทำไปแล้ว เช่น
- พระชัยบุรีเผาคูค่าย เมื่อกองทัพสุรกรรมาเพลี่ยงพล้ำโดยพระชัยบุรี และ พระศรีถมอรัตน์ ใช้ปืนใหญ่ถล่มข้าศึก (ถ่ายทำที่ค่ายสุรสีห์ กาญจนบุรี)
- พระราชมนู/ทหารเอกของพระนเรศวรลอบโจมตีกองทัพสุรกรรมาในช่องเขาแคบ (ถ่ายทำที่แก่งเสี้ยน กาญจนบุรี) เป็นฉากรบที่ดุเดือดยิ่งใหญ่และมีการใช้เอ็ฟเฟ็คท์หลายรูปแบบ เช่น ระเบิด การจุดไฟเผาคูค่าย ลูกไฟขนาดใหญ่ ฯลฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกของวงการ ภาพยนตร์ไทยในการทำเอ็ฟเฟ็คท์แนวนี้ อันเป็นผลงานการคิดสร้างสรรค์รูปแบบและการวางแผนของท่านมุ้ยเองทั้งหมดให้เหมาะสมที่สุด โดยศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลจากหนังสือหลายเล่มและทดลองทำจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
ฉากสำคัญที่จะถ่ายทำต่อไปเร็วๆ นี้ ได้แก่
- พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง ถ่ายทำที่ค่ายสุรสีห์ กาญจนบุรี
- พระนเรศวรยกทัพเข้าตีเมืองคัง ถ่ายทำที่เขาวัง/ เขาหลวง เพชรบุรี และ ถ้ำค้างคาว ราชบุรี
ประสพโชค ธนะเศรษฐวิไล ผู้ออกแบบงานสร้างและกำกับงานศิลป์ กล่าวถึงการเตรียมงานถ่ายทำนอกสถานที่ที่เขาวัง-เขาหลวง ว่า “ท่านมุ้ยเลือกทั้งสองที่นี้เพราะมีทำเลภูมิศาสตร์เหมาะสมที่สุด ใกล้เคียงกับสภาพชัยภูมิของเมืองคังตามที่ระบุไว้ในพงศาวดาร ซึ่งในการถ่ายทำส่วนนี้เราต้องทำฉากเพิ่มเยอะเพื่อเนรมิตเขาวังให้เป็นเมืองคัง ต้องออกแบบและสร้างฉากให้เป็นศิลปะแบบไทยใหญ่ครอบพระราชวังพระนครคีรีของเดิมที่มีอยู่ด้วยเทคนิคพิเศษแบบเดียวกับที่ใช้ในเรื่องลอร์ดออฟเดอะริง เพื่อป้องกันไม่ให้โบราณสถานชำรุดเสียหาย โดยขออนุญาตจากกรมศิลปากรเรียบร้อยแล้ว รอการติดตั้งและถ่ายทำ โดยใช้เทคนิคด้านคอมพิวเตอร์กราฟิคเข้าช่วย”
งาน CG (Computer Graphic) ได้มืออาชีพอย่าง Alex Bicknell / Visual Effect Producer, Supervisor ที่มีผลงานจากเรื่อง TROY, James Bond (Die Another Day, The World is Not Enough) ฯลฯ มาช่วยดูแล
ลำดับการถ่ายทำที่สำคัญในฉาก “พระแสงดาบคาบค่าย”
พระนเรศวร และ พระเอกาทศรถ ควบม้าศึกนำหน้าทหารเอกของพระองค์ ได้แก่ พระราชมนู พระศรีถมอรัตน์, พระชัยบุรี และทหารเอกคนอื่นๆ มาที่ค่ายของพม่า
ทหารที่อยู่นอกค่ายบางคนจะชักอาวุธขึ้นเตรียมสู้ บางคนจะวิ่งหนีกลับเข้าไปในค่าย เสียงเกราะดังมาจากภายในค่าย ทหารพม่าส่วนหนึ่งวิ่งมาที่ประตู
พระนเรศวรกับทหารเอกของพระองค์เข้ามาถึง เริ่มต่อสู้กับทหารที่อยู่นอกค่าย ซึ่งจะถูกฆ่าตายไปอย่างง่ายดาย
คัทย่อย
- พระนเรศวรกับทหารเอกของพระองค์ สู้กับทหารพม่า
- พระชัยบุรี เอาเชือกมาคล้องขวากแล้วใช้แรงม้าดึงขวาก ล้มกลิ้งกระเด็นกระดอน
- ขวากถูกม้าลากล้มกลิ้งกระเด็นกระดอน ถูกม้าลากกวาดกองไฟกระจายพินาศ
- ทหารพม่าวิ่งหนี พระศรีถมอรัตน์ ขี่ม้าตามแล้วใช้แป๊ะกั๊ก (อาวุธ) ตัดหัวขาดกระเด็น
- พระราชมนู ใช้ปืนยิงทหารพม่าตกจากบนกำแพงลงมาตาย
ทหารพม่าวิ่งหนีกลับเข้าไปในค่าย พระนเรศวร กับทหารเอกของพระองค์ไล่ติดตามแต่ถูกทหาร
ในค่ายระดมยิงจนต้องถอย
ทหารในค่ายปิดประตูลงดาล พระนเรศวร กับ ทหารเอก ของพระองค์ ไม่สามารถเข้าค่ายได้
พระนเรศวร แกว่งดาบไล่ต้อนทหาร/ไพร่เลวฝ่ายอยุธยาให้เร่งนำบันไดพาดค่ายโดยพร้อมเพรียงกัน
ทหารอยุธยาเริ่มปีนบันไดเข้าตีค่าย
พระนเรศวร กระโดดลงจากหลังม้าเพื่อปีนบันได โดย พระราชมนู ทูลห้ามไว้ แต่ พระนเรศวร ไม่ยอมหยุด และเอาพระแสงดาบมาคาบไว้แล้วเริ่มปีนค่าย
พระราชมนู กระโดดลงจากหลังม้าแล้ววิ่งขึ้นไปปีนบันไดตามหลัง พระนเรศวร
ทหารไทยปีนค่ายทหารพม่า ต่อสู้อย่างสุดฤทธิ์ บันไดหลายอันถูกผลักตกพร้อมกับทหารที่อยู่บนบันได
พระนเรศวร ยังคงปีนค่ายต่อไปด้วยน้ำพระทัยแน่วแน่ และต่อสู้กับทหารพม่าอย่างเต็มที่
พระราชมนู ชักปืนยิงพม่าที่กำลังเงื้อหอกจะแทงพระนเรศวร ล้มลงตาย
ทหารพม่า แทง พระนเรศวร ตกจากบันได พระราชมนู พยายามจะคว้าแต่ไม่สำเร็จ
พระเอกาทศรถ ทอดพระเนตรเห็น พระนเรศวร ถูกแทงตกจากค่ายด้วยความตกพระทัย
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--