กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๖ ขอนแก่น ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมหาสารคาม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการจัดการและป้องกันอุบัติภัยจากสารเคมี ณ บริเวณทางเข้าออกหอพักตักสิลานคร ถนนมหาสารคาม - กาฬสินธุ์ อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ในวันอังคารที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๑ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประชาชนในพื้นที่ ได้เรียนรู้วิธีการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยหากเกิดอุบัติภัยจากสารเคมี อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างทักษะในการแก้ไขสถานการณ์ และการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัยจากสารเคมีให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และอาสาสมัครในพื้นที่ นายชัยพันธุ์ หอมวิเศษวงศา ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๖ ขอนแก่น เปิดเผยว่า ความเจริญก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม และเทคโนโลยี ทำให้มีการนำสารเคมีและวัตถุอันตรายมาใช้ในกิจกรรมต่างๆมากขึ้น จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย ทั้งการรั่วไหล การเกิดเพลิงไหม้และการระเบิด สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจังหวัดมหาสารคาม เป็นจังหวัดที่มีเส้นทางคมนาคมที่ตัดผ่านเขตเมือง เขตเศรษฐกิจ และชุมชน ทำให้มี ความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายในขณะขนส่ง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติภัยจากสารเคมี ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๖ ขอนแก่น จึงได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมหาสารคาม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมูลนิธิอาสาสมัคร ฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการจัดการและป้องกันอุบัติภัยจากสารเคมี ณ บริเวณทางเข้าออกหอพัก ตักสิลานคร ถนนมหาสารคาม - กาฬสินธุ์ อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ในวันอังคารที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๑ เวลา ๑๐.๐๐ น. ในรูปแบบการฝึกซ้อมแผนในที่บังคับการ โดยจัดประชุมการจัดลำดับขั้นตอนการเกิดสถานการณ์อุบัติภัยจากสารเคมี และการฝึกซ้อมแผนแบบปฏิบัติการจริง โดยจำลองสถานการณ์การเกิดอุบัติภัยจากการขนส่งวัตถุอันตรายและสารเคมีรั่วไหลบริเวณเขตรอยต่อระหว่างจังหวัด และแจ้งขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งขอรับการสนับสนุนกำลังจากจังหวัดข้างเคียง เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามลำดับขั้นตอน ซึ่งการฝึกซ้อมแผนในครั้งนี้เป็นการบูรณาการและการสนธิกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมบริหารจัดการสาธารณภัยและแก้ไขปัญหาฉุกเฉิน อีกทั้งเป็นการทดสอบเครื่องมืออุปกรณ์ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ซึ่งจะทำให้สามารถป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยหากเกิดเหตุอุบัติภัยจากสารเคมี รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนได้ฝึกทักษะในการเข้าระงับเหตุและ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ส่งผลให้สามารถนำแนวทางที่กำหนดตามแผนไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความเชื่อมั่นในระบบและมาตรฐานความปลอดภัย