PTTAR ลงนามสัญญาเงินกู้เพื่อรองรับการลงทุนในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตร่วมของธุรกิจโรงกลั่นและอะโรเมติกส์ (Synergy Project)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 26, 2008 15:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น
วันนี้ (26 พฤษภาคม 2551) เวลา 13.00 น. นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PTTAR ลงนามในสัญญาเงินกู้สกุลเงินบาท จำนวน 6,000 ล้านบาท ระยะเวลา 9 ปี กับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTAR กล่าวว่า “การลงนามสัญญาเงินกู้ในวันนี้ นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งในการพยายามลดค่าใช้จ่ายทางการเงินและปรับปรุงโครงสร้างเงินกู้ของบริษัทฯ ให้มีความคล่องตัวในการบริหารทางการเงิน เนื่องจากโครงสร้างเงินกู้ดังกล่าวมีลักษณะเป็น “Revolving Basis” คือ บริษัทฯ สามารถเบิกถอนและคืนเงินกู้จากวงเงินนี้ได้ตลอดระยะเวลาสัญญาเงินกู้ โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะนำเงินกู้ดังกล่าวมาใช้ลงทุนในโครงการขยายงานและโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตร่วมของธุรกิจโรงกลั่นและอะโรเมติกส์ และ/หรือ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจต่างๆ ของบริษัทฯ นอกจากนั้นยังจะสามารถนำไป Refinance คืนเงินกู้เดิมบางส่วน เพื่อลดต้นทุนดอกเบี้ยให้ต่ำลง พร้อมกับยืดระยะเวลาการผ่อนชำระให้ยาวขึ้น จึงช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารทางการเงินของบริษัทฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”
บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PTTAR ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นและผลิตสารอะโรเมติกส์ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ปัจจุบัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการอะโรเมติกส์หน่วยที่ 2 ซึ่งจะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือนกันยายน 2551 และโครงการ Upgrading Complex Phase I ซึ่งเป็นโครงการนำคอนเดนเสท เรสซิดิว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากโรงงานอะโรเมติกส์ไปกลั่นเป็นน้ำมันอากาศยาน Jet A-1 และน้ำมันดีเซล ซึ่งจะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังมีแผนงานที่จะลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตระหว่างธุรกิจโรงกลั่นและธุรกิจอะโรเมติกส์ ประกอบด้วย 1. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานอะโรเมติกส์หน่วยที่ 1 2. โครงการก่อสร้างหน่วยกำจัดสารปรอทในโรงกลั่น เพื่อให้การเลือกใช้น้ำมันดิบของโรงกลั่นมีความคล่องตัวมากขึ้น 3. โครงการนำไฮโดรเจนจากโครงการอะโรเมติกส์หน่วยที่ 2 มาใช้ในโรงกลั่นน้ำมัน 4. โครงการ Upgrading Project Phase II (DHDS) เพื่อรองรับการผลิตน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ ตามมาตรฐาน EURO IV และ 5. โครงการปรับปรุงโรงงานอะโรเมติกส์หน่วยที่ 2 โดยคาดว่าโครงการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ