กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๕ นครราชสีมา ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการจัดการและป้องกันอุบัติภัยจากการจราจรและวัตถุอันตรายจังหวัดนครราชสีมา ประจำปี ๒๕๕๑ ณ บริเวณถนนมิตรภาพฝั่งขาขึ้น หลักกิโลเมตรที่ ๑๙๓ บริเวณเขื่อนเก็บน้ำลำตะคอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑ เพื่อเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างทักษะในการเข้าระงับเหตุ และการช่วยเหลือ ผู้ประสบอุบัติภัยจากการจราจรและวัตถุอันตรายให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายวัลลภ เทพภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๕ นครราชสีมา เปิดเผยว่า ความเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการนำสารเคมีและวัตถุอันตรายมาใช้ในกิจกรรมต่างๆมากขึ้น จึงเพิ่มความเสี่ยง ต่อการเกิดอุบัติภัยจากวัตถุอันตรายในขณะขนส่ง สร้างอันตรายให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนมากขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติภัยจากการจราจรและวัตถุอันตราย ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๕ นครราชสีมา จึงได้ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรการกุศลต่างๆในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการจัดการและป้องกันอุบัติภัย จากการจราจรและวัตถุอันตรายจังหวัดนครราชสีมา ประจำปี ๒๕๕๑ โดยแยกเป็น การฝึกซ้อมแบบที่บังคับการ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับลำดับขั้นตอนในการฝึกซ้อมแผน ในวันพุธที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ณ ห้องประชุมศูนย์ ปภ. เขต ๕ นครราชสีมา และการฝึกซ้อมแบบปฏิบัติการจริง ณ บริเวณถนนมิตรภาพฝั่งขาขึ้น หลักกิโลเมตรที่ ๑๙๓ บริเวณเขื่อนเก็บน้ำลำตะคอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑ โดยจำลองเหตุการณ์รถโดยสารเฉี่ยวชนกับรถบรรทุกน้ำมัน และมีรถยนต์บรรทุกสารเคมีมาเฉี่ยวชนซ้ำ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และเกิดการรั่วไหลของสารเคมีลงสู่เขื่อนลำตะคอง และการแจ้งขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามลำดับขั้นตอน การฝึกซ้อมแผนในครั้งนี้เป็นการบูรณาการและการสนธิกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการสาธารณภัยอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างทักษะ ประสบการณ์ให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดการการเข้าระงับเหตุ และการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัยสารเคมีในขณะขนส่ง ให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ตามหลักวิชาการ ตลอดจนเป็นการทดสอบเครื่องมืออุปกรณ์ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากอุบัติภัยในเบื้องต้น ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในระบบและมาตรฐานความปลอดภัย อันจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง