ดนตรีสร้างสรรค์ปลุกสำนึกรู้รักษ์เกาะช้าง

ข่าวท่องเที่ยว Tuesday May 27, 2008 09:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--อพท.
อพท. - งานดนตรี - ท๊อด ทองดี : ที่มาพร้อม “ศรัทธาและความเชื่อ” ในจินตนาการทางดนตรีที่จะเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงผู้คน ชุมชน คนที่เกี่ยวข้องเพื่อการรักษา “เกาะช้าง” ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อย่างยั่งยืนตลอดไป
เมื่อวันที่ 17-19 พ.ค. ที่ผ่านมา บนพื้นที่ตลอดแนวหาดคลองพร้าว ของเกาะช้าง จ.ตราด กับกิจกรรมดีๆ ดนตรีเพราะๆ “Koh Chang World Musiq & Fruit Festival” ที่แฝงไว้ด้วยแนวคิดและจินตนาการสร้างสรรค์เกาะช้างให้เป็นเกาะสวรรค์แห่งการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของนักท่องเที่ยว ผู้คน และชุมชนท้องถิ่น ก็จบลงไปพร้อมกับความประทับใจของผู้ชม คนร่วมงาน และเหล่าศิลปินนักแสดงบนเวทีทั้งจากในและต่างประเทศ ที่พร้อมใจเล่าเรื่องราวสอดแทรกการรักษ์ทรัพยากร การร่วมฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม โดยมีการถ่ายทอดผ่านทางเสียงดนตรี ศิลปะการแสดงสู่สาธารณะได้อย่างสอดคล้องกลมกลืนกับชุมชนกลุ่มเป้าหมาย และความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน
สิ่งที่ยังคงหลงเหลือไว้ให้เป็นกลิ่นไอยภายหลังกิจกรรม ที่สามารถต่อยอดทางความคิด พัฒนาต่อให้เป็นกิจกรรมรูปธรรมชัดเจนได้ คือ “จุดประกายเล็กๆ” ของจิตสำนึกในเรื่องคุณค่าของเกาะช้างที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้คนชุมชนที่นั่น ที่จะเป็นฉนวนในการพัฒนาในเรื่องอื่นๆ ต่อไป
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กับกิจกรรม “Koh Chang World Musiq & Fruit Festival” ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างจิตสำนึกระลึกถึงคุณค่าของเกาะช้าง ซึ่งเกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมสะท้อนออกมาตลอดกิจกรรมครั้งนี้เริ่มตั้งแต่แนวคิดของงานที่เป็น “แง่มุมแห่งการสร้างสรรค์ทางดนตรี ศิลปวัฒนธรรม อาหาร และธรรมชาติ” เป็นการนำของดีมีค่าของเกาะช้างทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร ศิลปวัฒนธรรมถ่ายทอดเป็นเรื่องราวทางดนตรี โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างจิตสำนึกถึงคุณค่าดังกล่าวแก่นักท่องเที่ยว ชุมชน ผู้คนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เดินไปในทิศทางของความยั่งยืนไปพร้อมกัน ผนวกกับ “ศรัทธา” ของคนทำงานดนตรี “ท๊อด ทองดี” โต้โผใหญ่ของเวทีนี้ที่มีจินตนาการทางดนตรีในการใช้เป็นสื่อกลางประสานปัญหากับทางออกเข้าด้วยกัน รวมทั้งเชื่อมโยงผู้คน ชุมชน คนเกี่ยวข้องเพื่อการสร้างสรรค์ “เกาะช้าง” ให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวในฝันที่มีความยั่งยืนตลอดไป
? ทำไมถึงมีงานนี้เกิดขึ้น และมันสำเร็จได้อย่างไร ?
“งานดนตรีนี้เกิดขึ้นจาก “ศรัทธา” จากสำนึกดีภายในของผมที่เป็นเพียงจุดเล็กๆ โดยมีทีมงาน และผู้สนับสนุนต่างๆ พัฒนาต่อยอดแนวคิดดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นครับ”
? งานดนตรีครั้งนี้เกี่ยวข้องอะไรกับการพัฒนาในแบบยั่งยืน
“ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องทำให้ผู้คนเห็นคุณค่าของตัวเอง ของสิ่งๆ นั้นเสียก่อน ซึ่งนักดนตรีและคนแสดงบนเวทีนี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวความยั่งยืนนั้น โดยพวกเขาต่างรู้ถึงคุณค่าของตน และถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานแห่งวิถีวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นภายใต้แนวคิดและเป้าหมายเดียวกันคือการร่วมรักษาคุณค่าของตนไว้นั่นเอง งานนี้เป็นงานเฮฮา ที่เป็นฉนวนชวนทุกคนเข้ามาเริ่มแล้วร่วมทำสิ่งดีๆให้กับเกาะช้าง เป็นเสมือนสื่อกลางในการเชื่อมโยงของความเสื่อมที่ต้องการการพัฒนา-เข้ากับ-คนและความคิดที่กำลังค้นหาโอกาสในการช่วยเหลือพัฒนาหรือทำอะไรดีๆ กับพื้นที่ได้อย่างไร”
? คุณคิดว่าจะรักษา “เกาะช้าง” ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนได้อย่างไร
“คำว่า “อนุรักษ์ ฟื้นฟูคุณค่าของท้องถิ่น เพื่อเกาะช้างจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน” ได้นั้นต้องตั้งอยู่บนฐานคิดบน 8 เรื่องสำคัญ คือ
1. ต้องมองความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าใครๆ ก็อยากให้ของดีๆ คงอยู่อย่างเดิมมีอยู่อย่างนั้น แต่ก็ต้องเข้าใจถึงกระแสโลกและสังคมที่หมุนเปลี่ยนไปในแต่ละวันด้วย
2. ต้องมี “ของดี” ที่จะนำเสนอ คือ ต้องค้นหาคุณค่า รู้ว่าของดีมีค่าหรือจุดแข็งของเราและชุมชนคืออะไร จะพัฒนาต่อให้ดีขึ้นได้อย่างไร และจะนำเสนอให้สอดคล้องกับกระแสสังคมปัจจุบันในข้อแรกได้อย่างไร
3. การบริหารจัดการต้องมี เช่น ณ ปัจจุบันนี้ตอนนี้ เกาะช้างมีบาร์ มีสถานบันเทิง มีสิ่งที่เข้ามาจากภายนอกแล้ว ก็ต้องคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น จะควบคุมอย่างไรให้เกิดความสมดุลอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม
4. ความร่วมมือก็ต้องเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญหน่วยงานไหน ใครก็ตามก็ไม่สามารถทำอะไรให้สำเร็จได้คนเดียว ผู้คนชุมชน ท้องถิ่น นักธุรกิจผู้ประกอบการต้องช่วยกัน ต้องเห็นความสำคัญร่วมกัน ฝรั่งนักท่องเที่ยวหรือคนไทยที่เป็นเจ้าบ้านก็สามารถทำอะไรร่วมกันได้
5. มิตรภาพและความเป็นเพื่อนต้องมีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นตัวเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าหากันให้เดินไปได้อย่างราบรื่น อบอุ่น และมีความสุข
6. “ความเชื่อและศรัทธา” เป็นสิ่งมหัศจรรย์สิ่งเดียวที่ผมเชื่อว่ามันจะเป็นตัวผลักดันให้ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้ เรา ชุมชน ทุกคนต้องเชื่อว่าเรื่องทุกเรื่องเกี่ยวเนื่องและมีผลกระทบกับเรา ไม่ว่าเราจะกิน จะทิ้ง จะทำลาย หรือสร้างสรรค์อะไรล้วนเป็นผลซึ่งกันและกันทั้งสิ้น ซึ่งผมกำลังจะบอกว่า เรื่องของการรักษาสิ่งดีๆ บนเกาะช้างก็เป็นเรื่องของผม และเป็นเรื่องของทุกคนที่ไม่อาจปฏิเสธได้
7. เราต้องมี “อาวุธ” อาวุธที่ว่านี้คือ “ความรู้และกลยุทธ์” การจะเริ่มสิ่งต่างๆ ข้อมูลความรู้ ทักษะ ความสามารถเป็นสิ่งสำคัญจำเป็น รวมกับกลยุทธ์ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายได้อย่างมีทิศทาง วัดผลได้ชัดเจนในแต่ละช่วงแต่ละจังหวะของการก้าวเดิน
8. “ปัญญา” เป็นจุดคลิกสำคัญที่จะนำทุกเรื่องไปสู่ความสำเร็จได้ นอกจากความรู้แล้ว ความเข้าใจ ความลึกซึ้งในสิ่งที่จะทำเป็นสิ่งสำคัญของทุกเรื่อง ธรรมชาติก็มีปัญญาของเขาในการสร้างสิ่งดีๆ ให้กับโลก มนุษย์ก็ต้องมีปัญญารู้ลึกซึ้งถึงคุณค่าของสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้น และเข้าใจถึงวิธีการในการจะรักษาสิ่งนั้นไว้ได้อย่างไร
เกาะช้างกับผู้คน ณ ตอนนี้ดำเนินต่อไปในแต่ละวัน มีบางส่วนสร้างสรรค์ โดยส่วนใหญ่ค่อนไปในทางทำลายโดยเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่รู้ตัว ซึ่งการทำลายนี้เกิดขึ้นวันต่อวัน ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องสะสมไปทีละน้อย ซึ่งหากพวกเขายังไม่รู้ตัว ยังรู้ไม่ถึงผลของการกระทำ ยังไม่รู้รักษ์มองให้ไกลไปถึงอนาคต ทรัพยากรธรรมชาติก็จะหมดไปจบลง เรื่องราวแห่งคุณค่าของเกาะช้างก็จะจบไป”
? ท๊อดทองดี ฝันอยากเห็นเกาะช้างเป็นอย่างไร?
“ผมฝันอยากเห็นเกาะช้างเป็นเกาะแห่งศิลปวัฒนธรรม ดนตรีและการสร้างสรรค์ ผมอยากให้เกาะช้างเป็นพื้นที่ที่มีการจัดโซนนิ่งของความสุข และโซนของกิจกรรมอิสระที่มีขอบเขตที่เหมาะสมภายใต้การควบคุมดูแล เช่น ฝั่งหนึ่งเป็นโซนสถานบันเทิง อีกฝั่งก็เป็นโซนของดนตรี ศิลปะ และวัฒนธรรม หรือฝั่งโน้นเป็นโซนร้านค้ากิจกรรมของผู้ใหญ่ที่ไม่เหมาะกับเด็ก อีกโซนอีกฝั่งก็จัดให้เป็นโซนของเด็กเยาวชนที่มีกิจกรรมสร้างสรรค์ดีๆ ให้กับเขาได้ทำได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นต้น”
? แล้วคุณท๊อด จะทำอะไรไหม เพื่อเกาะช้างจะได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในแบบ ยั่งยืน?
“ผมก็จะทำในแบบของผม ผมจะทำดนตรีแบบนี้แหละ เพราะมันคือความเชื่อและศรัทธาของผม มันจะเป็นตัวช่วยหนึ่งที่จะส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนของชุมชน ท้องถิ่น เกิดความยั่งยืนของการท่องเที่ยวบนเกาะช้างนี้ได้ ซึ่งงานดนตรีหรือเวทีการแสดงต่อๆไปจากนี้ ผมจะเพิ่มเติมสาระเรื่องเหล่านี้เข้าไปทีละน้อยทีละน้อย จาก 1 เป็น 2 เรื่อง จากผู้คน 10 , 20 ให้เป็นร้อยเป็นพันที่จะเข้ามาร่วมขบวนการกับเรา และเรื่องของความยั่งยืนนี้ต้องทำให้ทุกคนรู้ เข้าใจและตระหนักกับมันก่อนจึงจะเป็นจุดคลิกทำสิ่งดีต่อไปได้ เขาจะกลายเป็นผู้ที่อยู่ในชุมชนโดยเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติได้โดยมีการทำลายอย่างพอเหมาะไม่มากไป พร้อมกับการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาทดแทนสิ่งที่ทำลายไปอย่างสม่ำเสมอจนเกิดสมดุลในที่สุด เราต้องหมั่นค้นหาของดีสิ่งสร้างสรรค์มาแทนที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เข้ามาทำลายทำร้ายเกาะช้างของเรา”
งานดนตรีครั้งนี้ ยังมีกิจกรรมสร้างสรรรค์แทรกซึมอยู่ตลอดงาน ศิลปินบนเวทีต่างพร้อมใจถ่ายทอดความคิดผ่านเสียงดนตรี และคำพูดกระตุกเตือนใจให้ผู้คนร่วมตระหนักรู้รักษ์คุณค่าของเกาะช้างตลอด 3 คืน ชุมชนร่วมแสดงบูธผลิตภัณฑ์ที่ท้องถิ่นภูมิใจ หน่วยงานองค์กรต่างๆ ร่วมสะท้อนแนวคิดของดีเกาะช้างกับการพัฒนาการท่องเที่ยวในแบบยั่งยืน ซึ่งในวันสุดท้ายของงานทุกคนยังร่วมเก็บขยะบริเวณที่จัดงานของหาดคลองพร้าว และสรุปท้ายด้วยการรวบรวมความคิดความเห็นและมุมมองเรื่อง “อนาคตการท่องเที่ยวเกาะช้าง จะไปทิศทางไหน” เป็นการทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ค้นหาแนวทางแก้ไข และมองไปไกลถึงอนาคตที่จะเกิดความยั่งยืนบนเกาะช้างได้อย่างไร ร่วมกันของชุมชนท้องถิ่นผ่านการตอบแบบสอบถาม
เกาะช้างยังมีของดีมีคุณค่า ทรัพยากรธรรมชาติยังคงความอุดมสมบูรณ์ ยังเป็นแผ่นดินในฝันของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เป็นพื้นที่ที่สั่งสมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วิถีวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นที่ควรค่าแก่การร่วมรักษาไว้ ยังไม่สายที่จะเริ่มตั้งแต่วันนี้เริ่มจากสำนึกดีของชุมชนและคนที่เกี่ยวข้อง พัฒนาต่อยอดสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมด้วยกิจกรรมต่างๆ ในอันที่จะรักษ์เกาะช้างให้คงอยู่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนตลอดไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ