กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ผู้ขับขี่เพิ่มความระมัดระวังและมีสติในการขับขี่เป็นพิเศษ ไม่ขับรถด้วยความเร็วสูง หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน เช่น การขับรถด้วยความเร็วสูง การเปลี่ยนเส้นทางกะทันหัน พร้อมสวมใส่หมวกนิรภัย และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ในปัจจุบันรถจักรยานยนต์ถือเป็นพาหนะหลักที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุด เนื่องจากมีความคล่องตัวสูงในสภาพการจราจรที่ติดขัด ทำให้จำนวนผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนกว่าร้อยละ ๗๐ — ๘๐ เป็นผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีการขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย โดยผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ทุกคนควรสวมใส่หมวกนิรภัยทุกครั้ง หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งการขับรถด้วยความเร็วสูง การขับขี่ขณะมึนเมาสุรา การขับรถปาดหน้าหรือการขับขี่ในลักษณะผาดโผน เช่น ขับขี่ในลักษณะหมอบหรือนอนราบไปกับเบาะนั่งเพื่อเพิ่มความเร็วในการขับขี่ ซึ่งท่าทางในการขับขี่ที่ถูกวิธี ต้องนั่งในท่าธรรมดา เท้าทั้งสองข้างวางในที่วางเท้า เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเบรกหรือเปลี่ยนเกียร์ ไม่กางเข่าออก มือทั้งสองจับที่แฮนด์บังคับ ไม่ปล่อยมือข้างใดข้างหนึ่งในขณะขับขี่ ที่สำคัญ ควรมีสติในขณะขับขี่ และตระหนักอยู่เสมอว่าอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษ ไม่ขับขี่ด้วยความเร็วสูงและเปิดไฟหน้ารถทุกครั้งขณะขับขี่ เพื่อเพิ่มจุดสังเกต ให้ผู้ขับรถรายอื่นมองเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุลักษณะการชนประสานงา ในกรณีที่จะเลี้ยวซ้าย — ขวา แซง เบรก หรือหยุดรถ ควรเปิดไฟให้สัญญาณผู้ใช้รถคันอื่นได้ทราบล่วงหน้าในระยะ อย่างต่ำ ๓๐ เมตร ไม่ควรแซงรถคันอื่นในระยะกระชั้นชิดและในที่คับขัน เช่น ทางโค้ง ทางแคบ เนินเขา ทางแยก และ บนสะพาน เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ สำหรับการเปลี่ยนช่องทางเดินรถ ควรมองเส้นทางทั้งซ้าย ขวา หน้า หลัง และรอจนถนนโล่งหรือมีรถอยู่ในระยะไกล พร้อมให้สัญญาณไฟทุกครั้ง ส่วนการเข้าโค้ง ควรลดความเร็วลง รักษาลักษณะท่านั่งและสร้างความสมดุลตามแรงเหวี่ยง ไม่เกร็งหรือปล่อยตัวไปตามสบายจนเกินไป อาจทำให้เสียการทรงตัวได้ นอกจากนี้ ไม่ควรขับขี่รถด้วยความเร็วสูง เนื่องจากรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีสภาพทรงตัวยาก หากใช้ความเร็วจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้มากขึ้น อีกทั้งยังไม่มีอุปกรณ์ที่จะช่วยป้องกันและลดการบาดเจ็บของผู้ขับขี่ได้ดี ดังนั้น ทุกครั้งที่ขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์จึงต้องสวมหมวกนิรภัย และแต่งกายให้เหมาะสมทุกครั้ง เพื่อลดการบาดเจ็บที่รุนแรงจากอุบัติเหตุ