กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--นิโอ ทาร์เก็ต
เปิดตลาดเชิงรุก — ปลุกกระแส FTA ไทย — นิวซีแลนด์ มีผลแล้วในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 นี้ สินค้าไทยหลายร้อยรายการได้รับผลพวง ลดภาษีทันทีเป็น 0 % ตามความตกลง
นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนา เรื่อง “เปิดตลาดเชิงรุก ปลุกกระแส FTA ไทย — นิวซีแลนด์” ว่า “เราควรจะต้องยอมรับกระแสจากการเปิดตลาดไทย-นิวซีแลนด์ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไป ทุกฝ่ายควรใช้ประโยชน์ให้เกิดเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยรัฐบาลถือเป็นช่วงเวลาการสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง โดยใช้ FTA เป็นกลไกที่สำคัญภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ อย่างไรก็ตามการทำ FTA หลักโดยทั่วไปของผลลัพธ์ทุกฝ่ายต้องได้รับชัยชนะ แนวทางคือต้องยอมเสียส่วนน้อยเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนรวม ต้องพึ่งพาตัวเอง ผลักดันตัวเอง พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อมุ่งสู่ศักยภาพในการแข่งขันให้เป็นผู้ชนะในที่สุด ไม่มีการเอาเปรียบ ควรมีการให้และการรับ จะทำให้เกิดสถานการณ์ win —win เป็นการสร้างฐานที่มั่นคง”
“ทั้งนี้ในการบุกเจาะตลาดนิวซีแลนด์นั้น ขอแนะนำว่าผู้ส่งออกควรเตรียมความพร้อม เพราะการเปิด FTA จะทำให้การค้าระหว่างสองประเทศนี้มีปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้นแน่นอน และต้องเข้มงวดในเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้า ถึงแม้ว่านิวซีแลนด์จะไม่บังคับให้ไทยต้องมีใบรับรองก็ตาม ซึ่งผู้ส่งออกควรที่จะผลิตสินค้าให้ถูกต้องตามกฎที่ระบุไว้ เพราะหากผลิตไม่ถูกต้อง หรือนำสินค้าจากที่อื่นมาสวมสิทธิ์ก็จะทำให้เกิดปัญหาที่ต้องตามแก้ในภายหลังทำให้เกิดความยุ่งยาก ในทางกลับกันรัฐจะดำเนินการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าจากนิวซีแลนด์อย่างเข้มงวดเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่นิวซีแลนด์ได้เปรียบไทย เช่น นมผง ที่จะมีการตรวจเข้มในเรื่องสารจุลินทรีย์ และสารปนเปื้อนอื่น ๆ เป็นต้น”
ดังนั้นผู้ที่จะเข้าไปบุกตลาดนิวซีแลนด์นั้นจะต้องมีความตื่นตัว แสวงหา และปรับตัว ตั้งรับในเชิงคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร สร้างฐานความรู้ในเชิงพัฒนา เพราะปัจจุบันเป็นโลกของทุนนิยม สิ่งที่น่าเชื่อถือ ศรัทธา มีความรับผิดชอบ เป็นเรื่องที่ปัจจุบันลูกค้าทั่วโลกจับตามอง ต้องมีการผนึกกำลังเชื่อมโยงการทำงานเป็นคลัสเตอร์ ต้องรู้ข้อมูลเชิงลึก เจาะถึงแหล่งผลิต การเดินทางไปหาข้อมูลเจาะตลาดต่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงกฎกติกาสากลภายใต้ FTA มีมีการแข่งขันรุนแรงทุกขณะ
แนวคิดภายใต้การแข่งขัน FTA ควรมอง FTA เป็นการช่วยหาตลาดโดยใช้จุดแข็งของสินค้าที่มีอยู่ ด้วยการเจรจาลดปัญหาทางด้านการค้า จะทำให้สอดคล้องกับกฎแหล่งกำเนิดสินค้า ต้องมีการเพิ่มมูลค่าสินค้าตลอดเวลา ซึ่งถ้าหากทำได้จะเกิดสินค้า และบริการที่ยากจะลอกเลียนแบบ และพัฒนาไปสู่การค้าที่ยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ซึ่งข้อตกลง FTA ไทย- นิวซีแลนด์มีผลบังคับใช้ สินค้าหลักที่ไทยได้รับประโยชน์ในตลาดนิวซีแลนด์และเป็นสินค้าที่นิวซีแลนด์ลดภาษี 0% ทันทีตามข้อตกลง ได้แก่เครื่องปรับอากาศ จากเดิม 7% โดยเฉพาะการแข่งขันกับมาเลเซีย และเกาหลีใต้ ยกเว้นจีน เพราะมีต้นทุนต่ำกว่าไทย 40% ส่วนปลาทูน่ากระป๋องลดจากเดิมเป็น 5% ซึ่งไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดปลาทูน่ากระป๋องกว่า 95% ในนิวซีแลนด์ นอกจากนี้ยังมีรถปิกอัพ เม็ดพลาสติก ของปรุงแต่งจากธัญพืช กุ้งแช่แข็ง และเครื่องใช้ไฟฟ้า ด้านไทยลดภาษี 0% ทันทีในสินค้าอาหารปรุงแต่งสำหรับเลี้ยงทารก ธัญพืช ไม้และของที่ทำด้วยไม้ และขนแกะ เป็นต้น
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
นริสา ชะมุนี ,สุภมาส เดชวัฒนะเดช
บริษัท นิโอ ทาร์เก็ต จำกัด
โทร. 0-2631-2290-5/ โทรสาร 0-2234-6192--จบ--