กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด คาดว่าจะให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ระดับ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ แก่หุ้นกู้ค้ำประกันของบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (MMTh) มูลค่าไม่เกิน 5 พันล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2551 ซึ่งได้รับการค้ำประกันในลักษณะเต็มจำนวน ไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถยกเลิกได้จากธนาคารโตเกียว มิตซูบิชิ แห่งประเทศญี่ปุ่น (BTM) ซึ่งปัจจุบัน BTM ได้รับการจัดอันดับโดยฟิทช์ โดยมีอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Foreign Currency Rating) ที่ระดับ ‘A-’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารโตเกียว มิตซูบิชิ มีอันดับต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (International Local Currency Rating) ของประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ ‘A’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ อยู่หนึ่งระดับ ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ของบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) ที่ค้ำประกันโดยธนาคารโตเกียว มิตซูบิชิ จึงมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศของประเทศไทยที่ระดับ ‘AAA(tha)’ อยู่หนึ่งระดับเช่นกัน ความแตกต่างที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตระหว่างอันดับเครดิตของ BTM และประเทศไทยจะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ค้ำประกันดังกล่าว โดยที่การปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตสากลหนึ่งอันดับอาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตภายในประเทศมากกว่าหนึ่งอันดับได้ อันดับเครดิตนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้รับเอกสารประกอบการวิเคราะห์ต่างๆฉบับจริงครบถ้วน
อันดับเครดิตของ BTM สะท้อนถึงความเป็นไปได้อย่างมากที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะเข้ามาช่วยเหลือ BTM เมื่อมีความจำเป็น นอกจากนี้ฟิทช์ยังจัดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Individual Rating) ของ BTM ที่ระดับ ‘C/D’ ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีของธนาคาร ฐานเงินทุนที่เพียงพอ และความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Mitsubishi Tokyo Financial Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ BTM ได้ทำการควบรวมกิจการกับ UFJ Holdings ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ UFJ Bank และ UFJ Trust & Banking และเปลี่ยนชื่อเป็น Mitsubishi UFJ Financial Group ซึ่งกลายเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกในด้านสินทรัพย์ และในขณะนั้น Mitsubishi Trust และ UFJ Trust ซึ่งเป็นบริษัทลูกในกลุ่มธุรกิจ Trust Banking ของทั้งสองกลุ่มได้ควบรวมเป็น Mitsubishi UFJ Trust & Banking ในขณะที่บริษัทลูกในกลุ่มธุรกิจธนาคารจะควบรวมเป็น Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ ในช่วงต้นปีหน้า โดยแนวโน้มที่ฟิทช์จะปรับลดอันดับเครดิตของ BTM (รวมถึงธนาคารใหม่ที่เกิดจากการควบรวม) มีน้อยมากเมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะเข้ามาช่วยเหลือเมื่อมีความจำเป็น นอกจากนี้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารใหม่น่าจะคงอยู่ที่ระดับ ‘C/D’ การปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารใหม่จะขึ้นอยู่กับความสำเร็จและความรวดเร็วในการควบรวมกิจการ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพของฐานเงินทุนของธนาคาร
บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) เป็นฐานการผลิตรถกระบะสำหรับการส่งออกแห่งเดียวของบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส แห่งประเทศญี่ปุ่น (MMC) และเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยานยนต์ของบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ในประเทศไทย โดยบริษัทเป็นผู้นำในการส่งออกยานยนต์ในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของยอดการส่งออกยานยนต์ของประเทศไทยในปี 2547 และเป็นผู้จัดจำหน่ายรถกระบะใหญ่เป็นอันดับที่สี่ในประเทศไทยโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณร้อยละ 8 ของยอดการขายรถกระบะในประเทศไทย MMC ถือหุ้น 99.8% ใน บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย)
ติดต่อ:
เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล, วสันต์ ผลเจริญ, Vincent Milton, + 662 655 4755
Reiko Toritani, Tokyo, + 81 3 3288 2673
หมายเหตุ: การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน--จบ--