กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--กทม.
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเปิดงานการประชุมวิชาการ ประจำปี 2551 เรื่อง “สุขภาพมารดาและเด็กไทย คือ หัวใจของแผ่นดิน” ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ เครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกเพื่อครอบครัวของเด็กและเยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 พ.ค. 51 โดยมีนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล รศ.นพ.ธราธิป โคละทัต ผู้จัดการโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกฯ และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมรับเสด็จ ณ Bangkok Convention Centre (BCC) ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว
โอกาสนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงประทานรางวัลแก่บุคลากรทางการแพทย์ดีเด่น ประกอบด้วย สูติแพทย์ กุมารแพทย์ พยาบาล วิชาชีพด้านสูติกรรม และกุมารเวชกรรม รวม 4 คน จากนั้นทรงฟังปาฐกถาเกียรติยศ ครั้งที่ 1 เรื่อง “เจ้าชายน้อยของปวงชนชาวไทย” โดย ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา และประทานรถพยาบาลฉุกเฉินสำหรับมารดาและทารก พร้อมอุปกรณ์การช่วยชีวิตให้แก่วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล โดยการสนับสนุนของกองทุนทีปังกรนภัทรบุตร เพื่อใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานดูแลสุขภาพมารดาและทารกคลอดก่อนกำหนด
โครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกเพื่อครอบครัวของเด็กและเยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “สายใยรักแห่งครอบครัว” ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งทรงมีพระราชประสงค์ต้องการให้เด็ก และครอบครัวไทยมีสุขภาพแข็งแรง เนื่องจากปัญหาคลอดก่อนกำหนดเป็นปัญหาที่สำคัญ และเป็นสาเหตุสำคัญอันดับแรกที่ทำให้ทารกไทยเสียชีวิต ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงต่อครอบครัว สังคม รวมทั้งเป็นสาเหตุของความพิการที่สามารถป้องกันแก้ไขได้ และเนื่องจากการดูแลรักษาทารกเกิดก่อนกำหนดต้องใช้สถานที่ บุคลากร และอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งสถานพยาบาลทุกแห่งยังไม่มีความสามารถให้การรักษาดูแลทารกกลุ่มนี้ได้ทุกราย องค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเข้ามาร่วมดำเนินงานในรูปแบบของเครือข่ายสหสาขาวิชาชีพเพื่อพัฒนาการดูแลภาวะสุขภาพมารดาและทารกโดยองค์รวม
ทั้งนี้กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถือเป็นเครือข่ายแรกของประเทศที่จะร่วมกันในการพัฒนาการดูแลรักษามารดาและทารก โดยการประชุมวิชาการในครั้งนี้เป็นการแถลงนโยบายและแนวทางการดำเนินการ รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ของบุคลากรในสถานพยาบาลที่จะเข้ามาร่วมเป็นเครือข่าย ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย อาสาสมัครสาธารณสุข และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล สังกัดกรุงเทพมหานคร กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมจำนวน 1,200 คน กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง บทบาทกรุงเทพมหานครกับนโยบายคุณภาพชีวิตของครอบครัวไทย โดย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การเสวนาทางวิชาการ เรื่อง ความเป็นมาของเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก แผนที่ยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงและตัวชี้วัด โดย รศ.นพ.ธราธิป โคละทัต และ ผศ. และการจัดแสดงนิทรรศการ
อนึ่ง ในแต่ละปีมีทารกเกิดในประเทศไทยประมาณ 800,000 คน จากสถิติในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา พบว่าทารกเกิดก่อนกำหนด มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นชัดเจน เนื่องจากสตรีตั้งครรภ์มีปัจจัยเสี่ยงต่อการคลอดทารกน้ำหนักน้อยและคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้น ทั้งเรื่องโภชนาการ การดูแลสุขภาพตนเองขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้พบว่าประชากรอายุ 0-14 ปี เสียชีวิตปีละประมาณ 15,000 ราย ที่สาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของทารกในระยะขวบปีแรก คือ โรคที่เกิดขึ้นกับทารกอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ - 7 วันแรกของชีวิต ได้แก่ การขาดออกซิเจนในระยะคลอด การคลอดก่อนกำหนด และความพิการแต่กำเนิด โดยพบว่าทารกในเขตเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานครมีอัตราการเสียชีวิตในช่วง 28 วันแรกของชีวิต สูงกว่าภาพโดยรวมของประเทศ
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตามที่พระวรชายาฯ ได้ทรงพระราชทานแนวทางในการดูแลสุขภาพแม่และเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่คลอดก่อนกำหนดจะต้องเข้าไปช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่สุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ประกอบกับ กทม. มีนโยบายหลักในการเพิ่มศักยภาพและมาตรฐานในการให้บริการของโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 68 แห่งในสังกัดกทม. โดยการฝึกอบรมบุคลากรทางด้านแพทย์ พยาบาล เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโรงพยาบาลแต่ละแห่งของกทม. มีความพร้อมทั้งด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากร ทางการแพทย์ในการให้บริการแก่ประชาชน ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน HA และ SCA และมีการทำงานร่วมกับเครือข่ายโรงพยาบาลของหน่วยงานราชการต่างๆ ควบคู่กับแนวทางหลักในการดูแลสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อส่งผลให้การบริการสาธารณสุขแก่ประชาชนครอบคลุมและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น