โครงการ “เปิดเวทีรากหญ้าและต้นกล้าเมืองแฟชั่น”New Grassroot Life Fashion Show Off

ข่าวทั่วไป Friday January 14, 2005 15:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--แฟรนคอม เอเซีย
ความเป็นมา
โครงการ “กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น” ประกอบด้วยโครงการย่อย 11 โครงการ ที่เป็นองค์ประกอบหลักในการนำเสนอภาพรวมเพื่อแสดงออกถึงความเป็นมาตรฐานสากล และผลักดันให้กรุงเทพฯ รวมถึงธุรกิจอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยก้าวไปสู่ความเป็นศูนย์กลางแฟชั่นในระดับต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “สร้างคน สร้างธุรกิจ สร้างเมือง”
ทั้งนี้ การที่จะให้ผลสัมฤทธิ์เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องมีการพัฒนาผู้บริโภคของไทยในระดับมวลชน ที่ถูกขนานนามว่าเป็นกลุ่ม “รากหญ้า” (Grassroot) ให้มีความตื่นตัวและมีความสนใจที่จะปรับเปลี่ยนการแต่งกาย ตลอดจนมีความต้องการที่จะเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะและพัฒนาพฤติกรรมการบริโภคสินค้าแฟชั่นด้วย อันจะนำไปสู่ภาพลักษณ์ที่ดีและสอดคล้องกับโครงการหลักอื่นๆ เพราะการก้าวสู่ความเป็นหนึ่งศูนย์กลางแฟชั่นชั้นนำของโลก ไม่สามารถดำเนินการได้จากการพัฒนาภาพลักษณ์ด้วยการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ กิจกรรมชุมนุมคนในวงการแฟชั่นนานาชาติ หรือการพัฒนาขีดความสามารถในการออกแบบ การสร้างแบรนด์ สร้างสินค้าให้มีมาตรฐานสากล และการสร้างกระแสให้เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศเพียงด้านเดียว แต่ยังต้องมีการกระตุ้นและพัฒนากลุ่ม “รากหญ้า” ผู้บริโภคภายในประเทศซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างชาติ ที่รวมตัวอยู่ในตลาดแฟชั่น (Fashion Marketplace) ให้เติบโตเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานใน โครงการหลักของกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น
กลุ่ม “รากหญ้า” นี้ แท้ที่จริงแล้วคือ “ต้นกล้า” เมืองแฟชั่น (New Grassroot Life Fashion) สามารถพัฒนาให้เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้โครงการต่างๆ ของกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นประสบความสำเร็จได้ต่อไป
นอกจากนี้ การก้าวสู่ความเป็นหนึ่งในศูนย์กลางเมืองแฟชั่น ยังจำเป็นต้องคำนึงถึงการสร้างความสำเร็จเชิงพาณิชย์ โดยสร้างรายได้จากการขายสินค้าและบริการของผู้ประกอบการไทยในทุกประเภท ทุกระดับ ผลผลิตด้านแฟชั่นของคนไทยควรเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ทั้งในหมู่คนไทยและต่างประเทศ เช่นเดียวกับบรรดาแบรนด์ดังระดับโลก
โครงการ “เปิดเวทีรากหญ้าและต้นกล้าเมืองแฟชั่น” จึงเป็นโครงการที่สามารถกระตุ้นให้เกิดความสนใจเรียนรู้และเสริมสร้างทักษะ ตลอดจนรสนิยมในการบริโภคแฟชั่น และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการแต่งกาย อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาให้มวลชน “รากหญ้า” กลายเป็น “ต้นกล้า” ที่มีบทบาทในการสร้างภาพลักษณ์และความพร้อมให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางเมืองแฟชั่น ทั้งยังมีความสำคัญระดับมหภาคที่จะเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยอีกกลุ่มหนึ่งประสบความสำเร็จได้จากกำลังซื้อที่มีปริมาณมากของผู้บริโภคระดับมวลชน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่การร่วมกันสร้างกระแสและกำหนดแนวโน้มแฟชั่น (Fashion Trend Setting) ด้วย
แนวคิดในการเสริมสร้างจิตสำนึก รวมทั้งการพัฒนาพฤติกรรมผู้บริโภคในโครงการ “เปิดเวทีรากหญ้าและต้นกล้าเมืองแฟชั่น” จะช่วยกระตุ้นให้เกิดพลังแฝงที่จะร่วมขับเคลื่อนในการสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางเมืองแฟชั่นได้ในทุกระดับ และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรากฐานที่มั่นคงของโครงการ “กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น”
วัตถุประสงค์
- เพื่อพัฒนาผู้บริโภคระดับมวลชน หรือกลุ่ม “รากหญ้า” ให้มีความรู้ ความเข้าใจในแนวทางการพัฒนาการแต่งกาย ให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อการสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแฟชั่น
- เพื่อสร้างการยอมรับจากผู้บริโภคชาวไทยในการใช้สินค้าและบริการที่เกี่ยวกับวงการแฟชั่นของคนไทย และมีส่วนร่วมในการสร้างกระแสแนวนิยมด้านแฟชั่น รวมทั้งสร้างความสำคัญในการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการด้านแฟชั่นมีการปรับตัว โดยพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค
- เพื่อสร้างความพร้อมของผู้บริโภคในระดับ “รากหญ้า” และ “ต้นกล้า” เมืองแฟชั่น รองรับการเป็นผู้นำและศูนย์กลางแฟชั่นในภูมิภาคนี้อย่างแท้จริง
- เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาสินค้าและการบริการด้านแฟชั่นของไทยให้สามารถตอบสนองความต้องการและความนิยมของตลาด
กลุ่มเป้าหมาย
- ประชาชนระดับมวลชนทั่วไป ที่มีความสนใจ ต้องการเรียนรู้ในเรื่องเกี่ยวกับแฟชั่น และกลุ่มผู้ที่ต้องการมีเวทีให้แสดงออก รวมถึงการแข่งขันด้านศิลปะการแต่งกาย รวมถึงแฟชั่นอื่นๆ
- นักเรียน นักศึกษาในสาขาศิลปะแฟชั่น นักออกแบบรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการแฟชั่นรายย่อย ที่มีความสนใจและต้องการมีเวทีให้พบปะและแสดงออกถึงผลงาน ตลอดจนนำเสนองานบริการและสินค้าแฟชั่นให้แก่ผู้บริโภคระดับมวลชน
- ประชาชนผู้สนใจทั่วไป ที่ต้องการรับบริการปรับเปลี่ยนสไตล์การแต่งกาย ต้องการเรียนรู้ในเรื่องของแฟชั่น สนใจชมและติดตามผลงานการแสดงออกด้านศิลปะแฟชั่น และสนใจที่จะร่วมเป็นกรรมการตัดสินการประกวดผลงานแฟชั่นการแต่งกาย และการออกแบบแฟชั่นประเภทต่างๆ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- ผู้บริโภคในระดับมวลชนหรือกลุ่ม “รากหญ้า” ได้รับการพัฒนาทักษะการแต่งกายให้ดูดี เหมาะสม มีภาพลักษณ์ที่ดี และก้าวสู่ความเป็น “ต้นกล้าเมืองแฟชั่น” ที่จะช่วยสนับสนุนภาพลักษณ์ความเป็นประชากรแฟชั่นที่ดีให้แก่โครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น
- นักเรียน นักศึกษาด้านศิลปะแฟชั่น นักออกแบบรุ่นใหม่ (Young Designer) รวมทั้งผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจแฟชั่น ได้รับข้อมูลจากการร่วมกิจกรรมกับผู้บริโภค ทำให้มีความเข้าใจในพฤติ-กรรมที่แท้จริงของผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความคิดและแนวทางในการพัฒนาการเรียน การทำงาน การสร้างสรรค์และการผลิตสินค้าและให้บริการด้านแฟชั่น เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของตลาดแฟชั่นในเมืองไทย
- สร้างภาพลักษณ์ให้เกิดความครบวงจร ในการเป็นหนึ่งในศูนย์กลางเมืองแฟชั่นให้แก่โครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น
ระยะเวลาดำเนินการ
ทดลองเปิด 2 เวทีแรกในช่วงเดือนมกราคม 2548
ครั้งที่ 1 : วันเสาร์ที่ 15 และวันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม 2548
ที่บริเวณลานหน้าสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกำแพงเพชร ทางเข้าสวนจตุจักร
ครั้งที่ 2 : วันเสาร์ที่ 22 และวันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม 2548
ที่บริเวณลานจอดรถหน้าฮาร์ดร็อค คาเฟ่ สยามสแควร์
ประมาณการผู้เข้าชมงานและร่วมกิจกรรม
- ผู้สนใจเข้าชมงาน วันละไม่ต่ำกว่า 5,000 คน
- ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมประเภทต่างๆ วันละกว่า 500 คน
ผู้ดำเนินการสร้างสรรค์และจัดกิจกรรม
- สถาบันตักส์ศิลา แฟชั่น โดย อ. แดงส์ - ชาคริต เชาวนะโรจนารุจิ
- บริษัท BE Consulting Group จำกัด โดยคุรอินทิรา จำนงค์อาษา
ผู้สนับสนุนการดำเนินการ
- กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น
- สถาบันตักส์ศิลา แฟชั่น
- การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
- สำนักงานทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง
- พันธมิตรในเครือสำนักงานโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น
- พันธมิตรในเครือข่ายสถาบันตักส์ศิลา แฟชั่น
- บริษัท BE Consulting Group จำกัด
- จักรยานยนต์ไทเกอร์
- การท่องเที่ยวนิวซีแลนด์ (งาน WOW)
- สมาคมเสริมสวยแห่งประเทศไทย ฯลฯ--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ