๒๙ มิถุนายน วันบริพัตร

ข่าวทั่วไป Wednesday June 29, 2005 10:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
วันนี้ (๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๘) เวลา ๑๐.๐๐ น. พลเรือเอก พีรศักดิ์ วัชรมูล รองผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีเทิดพระเกียรติ จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ณ สถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
สถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง จัดกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติในพระมหากรุณาธิคุณ จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เนื่องในวันบริพัตร เป็นประจำทุกปี ประกอบด้วยพิธีบวงสรวง บำเพ็ญกุศล ถวายพานพุ่มดอกไม้ ยิงสลุต และจัดแสดงนิทรรศการพระประวัติและพระกรณียกิจของพระองค์ท่าน นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนโรงเรียนพยาบาล และโรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ โดยผู้แทนราชสกุลบริพัตร เป็นผู้มอบ ฯ และในโอกาสนี้ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน ข้าราชการ ทหาร และลูกจ้างสังกัดกองทัพเรือ แต่งเครื่องแบบหมายเลข ๒ (ปกติขาว) โดยพร้อมเพรียงกัน
จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓๓ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ ๒ ใน สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พระองค์ทรงเป็นเสมือนหลักชัยของประเทศ ที่มีส่วนเสริมสร้างรากฐานความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าให้กับส่วนราชการต่าง ๆ มากมาย พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เสนาธิการทหารบก เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และองค์อภิรัฐมนตรี ซึ่งตำแหน่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังทรงปฏิบัติงานในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และผู้รักษาพระนครทุกครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศหรือมิได้ประทับอยู่ในพระนครเป็นเวลาหลายวันอีกด้วย ฉะนั้นในระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือเป็นเวลาประมาณ ๑๗ ปี พระองค์ได้ทรงวางรากฐานแห่งความเจริญด้านต่าง ๆ ให้ กองทัพเรือในปัจจุบัน เช่น การจัดระเบียบราชการในกองทัพเรือ การจัดทำข้อบังคับสำหรับทหารเรือ การจัดตั้งโรงเรียนนายเรือ สร้างอู่ต่อเรือ จัดให้มีพระธรรมนูญศาลทหารเรือและกรมพระธรรมนูญทหารเรือ ปรับปรุงการสหโภชน์และตั้งโรงเรียนสูทกรรม ตั้งกองดุริยางค์ทหารเรือ ตั้งคลังแสงทหารเรือ ปรับปรุงการแพทย์ทหารเรือให้เจริญ สนับสนุนการก่อตั้งราชนาวิกสภา กำหนดรูปแบบริ้วกระบวนเรือพระราชพิธี ปรับปรุงเห่เรือ และสร้างเรือพระราชพิธีขึ้นใหม่ เป็นต้น
จากการที่พระองค์ทรงวางรากฐานแห่งความเจริญด้านการศึกษาให้กับนายทหารเรือ ประกอบกับ สถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง เป็นหน่วยที่มีภารกิจในการดำเนินการในเรื่องการฝึก และศึกษาวิชาการทหารเรือชั้นสูง และวิทยาการที่จำเป็นแก่นายทหารสัญญาบัตร เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาและฝ่ายอำนวยการได้ สถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง จึงได้รับการพิจารณาให้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระอนุสาวรีย์ของพระองค์
(ที่มา : บันทึก สรส.(คณะกรรมการจัดงานวันบริพัตร ประจำปี ๒๕๔๘) โทร.๐ ๒๔๗๕ ๓๕๙๒)--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ