กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--กบข.
กบข.ปรับกลยุทธ์การลงทุนหลังเฟดส่งสัญญาณตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับร้อยละ 2 ป้องกันปัญหาเงินเฟ้อ เล็งเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นต่างประเทศ ลดน้ำหนักลงทุนตราสารหนี้ กระจายการลงทุนพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์เพิ่ม
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า กบข. ได้ปรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้หลังจากที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2 เพื่อรอดูผลของมาตรการทางการเงินและการคลังต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันในตลาดโลก และมีความเป็นไปได้ว่าเฟดอาจตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่ 4 หากเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน และเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายอัตราดอกเบี้ยในประเทศของไทย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์พี) 1 วันที่ระดับร้อยละ 3.25 เนื่องจากมีความกังวลปัญหาเงินเฟ้อ และมีความเป็นไปได้ว่าดอกเบี้ยอาจปรับขึ้นในช่วงปลายปี หรืออย่างช้าต้นปีหน้า
“เงินเฟ้อกำลังกลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเป็นแรงกดดันให้ เราต้องแสวงหาลู่ทางการลงทุนใหม่ๆ เพื่อที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนในระดับใกล้เคียง หรือสูงกว่าเงินเฟ้อในระยะยาว ในระดับความเสี่ยงที่ยอมได้” นายวิสิฐกล่าว
นายวิสิฐกล่าวว่า กลยุทธ์การลงทุนของ กบข. ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า กบข. เตรียมเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ลดน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ลง และมองหาลู่ทางการลงทุนใหม่ๆ อย่างเช่น กองทุนที่ลงทุนในนิติบุคคลเอกชนต่างประเทศ (Private Equity Fund) หรือลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ เพื่อกระจายการลงทุนให้หลากหลาย และที่สำคัญเพื่อเป็นการผลักดันผลตอบแทนให้ได้ตามเป้าหมายที่คณะกรรมการลงทุนได้กำหนดไว้ โดยพยายามสร้างผลตอบแทนการลงทุนในระยะยาวให้สูงกว่าเงินเฟ้อ
เลขาธิการคณะกรรมการ กบข. กล่าวอีกว่า พอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้นของ กบข. ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 23-24 โดยเป็นการลงทุนในตลาดหุ้นในประเทศเฉลี่ยร้อยละ 11-12 และตลาดหุ้นต่างประเทศอีกร้อยละ 12 จากเดิมร้อยละ 9 ทั้งนี้ ปัจจุบัน กบข.มีเงินกองทุนภายใต้การบริหารประมาณ 3.8 แสนล้านบาท
ยุวพร นนท์ภาษโสภณ
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ( กบข.)
Government Pension Fund
Tel. 02-636-1000 Ext.263 , 01-612-2322
Fax. 02-636-1691