iTAP นำ SMEs ไทยกลุ่มเครื่องสำอางเปิดโลกทัศน์ เสาะหาเทคโนโลยีระดับโลกในงาน COSMOPROF 2008

ข่าวทั่วไป Thursday May 29, 2008 11:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--สวทช.
ที่ปรึกษาเทคโนโลยี iTAP นำคณะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย บินลัดฟ้าสู่ประเทศอิตาลีและเยอรมันนี เพื่อเสาะหาเทคโนโลยีทันสมัยในงาน COSMOPROF 2008 งานแสดงเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ด้านความสวยงามระดับแนวหน้าของโลก เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ พร้อมเยี่ยมชมบริษัทและโรงงานผู้ผลิตเครื่องสำอางชั้นนำ ช่วยเปิดโลกทัศน์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างแรงบันดาลใจเพื่อกลับมาพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยต่อไปในอนาคต
ล่าสุดจากการที่โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ได้ดำเนินการ “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและระบบการจัดการสู่มาตรฐานวิธีการผลิตที่ดี หรือ GMP” เป็นการสนับสนุนและช่วยผลักดันบริษัทฯ ผู้ผลิตเครื่องสำอางให้ได้รับการรับรองมาตรฐานวิธีการที่ดีในการผลิต หรือ GMP (Good Manufacturing Practice) ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่ระดับสากล รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ในกระบวนการผลิต
ดังนั้น โครงการ iTAP จึงได้ร่วมมือกับหอการค้าเยอรมัน-ไทย และผู้เชี่ยวชาญไทย จัดกิจกรรมโดยการนำผู้ประกอบการด้านนี้เข้าร่วมงานแสดงมหกรรมเครื่องสำอางระดับนานาชาติ COSMOPROF 2008 ณ ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นงานแสดงนวัตกรรมความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมทางด้านความงาม เครื่องสำอาง และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับทราบข้อมูลความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เกิดแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพสินค้า รวมถึงโอกาสในการเจรจาธุรกิจกับบริษัทคู่ค้า ขณะเดียวกันได้จัดกิจกรรมศึกษาดูงานในโรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางทั้งในประเทศอิตาลี และสหพันธรัฐเยอรมันนี อาทิ บริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางชั้นนำในประเทศสหพันธรัฐเยอรมันนีและประเทศอิตาลี รวมถึงบริษัทผู้ผลิตวัตถุดิบและบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก
ภญ.รศ.ภารุณี ถนอมเกียรติ ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญจากโครงการ iTAP เปิดเผยว่า จากการที่ทีมผู้เชี่ยวชาญของโครงการ iTAP ได้นำผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอางเดินทางไปเสาะหาเทคโนโลยียังต่างประเทศนั้นก็เพื่อให้ได้รับทราบนวัตกรรม ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมและความหลากหลายของกรรมวิธีในการผลิต เทคโนโลยีด้านเครื่องจักร เทคโนโลยีในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมการขาย รวมทั้งทราบถึงทิศทางแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ
“แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยที่ดี ควรมีการกระตุ้นให้ผู้ผลิตเครื่องสำอาง เร่งสะสมความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต เทคโนโลยีการบรรจุ เทคโนโลยีการจัดการและเร่งสร้างความชำนาญพิเศษให้บุคลากร เพื่อสามารถวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาในกระบวนการผลิตทั้งแบบเฉพาะหน้าและในระยะยาวได้”
ผู้เชี่ยวชาญโครงการ iTAP กล่าวต่ออีกว่า การเดินทางครั้งนี้เรายังได้เปิดโอกาสให้เกิดการเจรจาธุรกิจระหว่างบริษัทไทยและบริษัทชั้นนำของโลกเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยี ความร่วมมือทางธุรกิจและการตลาด ในการสร้างศักยภาพการวิจัยและพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอีกด้วย ซึ่งนอกจากประโยชน์ด้านการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ จากการได้เห็นนวัตกรรมด้านต่างๆ แล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดแนวคิดใหม่กล้าสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่และบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจ ที่จะสามารถนำไปออกแบบสินค้าใหม่สู่ตลาดได้
ด้าน พ.ญ.นภาฉัตร เรืองวัฒนสุข ประธานบริษัท เอส.เอส.แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการที่ร่วมเดินทางในการเสาะหาเทคโนโลยีต่างประเทศ กล่าวว่า บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพผิวหนังภายใต้แบรนด์ ดร.สมชาย ซึ่งจากการได้ร่วมเดินทางในครั้งนี้ถือว่าได้รับประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะในส่วนของการเข้าเยี่ยมชมโรงงานชั้นนำที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับหลายแห่ง รวมทั้งเข้าชมงานแสดงมหกรรมเครื่องสำอางระดับนานาชาติ COSMOPROF 2008 ที่ไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานได้ง่ายๆ
“ที่ผ่านมาบริษัทฯ มีความสนใจที่จะร่วมงานกับทางโครงการ iTAP ซึ่งนอกจากจะได้รับการสนับสนุนแนะนำช่วยเหลือในด้านต่างๆ แล้วยังได้รับสิทธิพิเศษสนับสนุนในการร่วมเสาะหาเทคโนโลยีต่างประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะครั้งนี้ที่ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมโรงงานผู้ผลิตสารส่วนผสมต่างๆ สำหรับการผลิตเครื่องสำอาง โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ โรงงานผู้ผลิตเครื่องสำอางชั้นนำของโลก ซึ่งแต่ละแห่งล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าเยี่ยมชมทั้งสิ้น ที่สำคัญคือโรงงานเหล่านี้มิได้เปิดเผยข้อมูลหรือเปิดให้เข้าชมได้ทั่วไป ต้องได้รับสิทธิพิเศษเท่านั้น ซึ่งจุดนี้ทางโครงการ iTAP เป็นผู้ดำเนินการประสานให้ทั้งสิ้น”
พ.ญ.นภาฉัตร กล่าวอีกว่า จากการเข้าเยี่ยมชมโรงงาน ช่วยให้ได้รับรู้ ได้เห็นแนวทางสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีอันทันสมัย ซึ่งจะได้นำมาพัฒนา ปรับปรุงใช้ให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ได้ โดยรวมควรมุ่งเน้นที่คุณภาพและความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันตัวผลิตภัณฑ์ก็ต้องมีคุณภาพและประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น บรรจุภัณฑ์ก็ต้องสวยงามทันสมัย
อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะจัดอยู่ในกลุ่มของประเทศที่กำลังพัฒนา ต้องเดินตามหลังประเทศอื่นอยู่บ้าง แต่เราก็มีจุดเด่นอยู่ที่มีวัตถุดิบสารต่างๆ จากธรรมชาติที่มีอยู่ภายในประเทศมากมาย และเป็นที่นิยมในปัจจุบัน นับเป็นจุดแข็งที่สำคัญของเรา หากได้ร่วมกับการเร่งทำงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มเข้ามา ก็จะเป็นส่วนช่วยเร่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของไทยให้กลายเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงกว้างต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ