Mesh Plug... นวตกรรมใหม่ ของรามาธิบดี

ข่าวทั่วไป Thursday May 29, 2008 13:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ ได้พิจารณา มีมติอนุมัติให้รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น สำหรับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ได้รับรางวัลชมเชย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
ผลงานเรื่อง Mesh Plug ที่ตัดเย็บขึ้นเองสำหรับการผ่าตัดรักษา ไส้เลื่อน (Tailor-made Mesh Plug Herniorrhaphy) คิดค้นโดย รศ.รท.จุมพล วิลาศรัศมี อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ และผู้ร่วมประดิษฐ์คิดค้น คุณกุลณิช จิรัชยาพร คุณนทีชา ปิ่นยะกุล คุณ อรพันธ์ พรรณประดิษฐ์ ภ.ศัลยศาสตร์ รศ.จุมพล กล่าวเกี่ยวกับที่มาของการประดิษฐ์ว่า ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบเป็นโรคทางศัลยกรรมที่พบบ่อยและสามารถก่อให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนที่มีอันตรายต่อผู้ป่วย การรักษาไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบที่ดีที่สุดคือการผ่าตัด การผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบเป็นหัตถการที่สำคัญสำหรับศัลยแพทย์
ในปัจจุบันเทคนิคการผ่าตัดมีหลายวิธีและได้ผลใกล้เคียงกันในการรักษา อัตราการกลับเป็นซ้ำของโรคหลังการผ่าตัดมีประมาณร้อยละ ๑ ถึง ๑๐ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เทคนิคการผ่าตัดโดยการใส่วัสดุที่เรียกว่า mesh เข้าไปแก้ไขบริเวณผนังหน้าท้องที่ผิดปกติ ให้ผลการรักษาที่ดี ถือเป็นมาตรฐานการรักษาในปัจจุบัน หลายบริษัทในต่างประเทศได้ประดิษฐ์รูปแบบของ mesh เพื่อใช้ในการผ่าตัดรักษา แต่มีราคาขายที่ค่อนข้างสูง คณะผู้วิจัยได้ตัดเย็บ mesh plug ขึ้นมาเพื่อใช้ในการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบโดยมีราคาที่ถูกกว่ามาก นวัตกรรมนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะประดิษฐ์ mesh plug ที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษาผู้ป่วยไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ โดยใช้ระยะเวลาในการประดิษฐ์คิดค้นประมาณ ๘ เดือน
สำหรับคุณสมบัติและลักษณะเด่น เป็นสิ่งที่คิดค้นขึ้นใหม่มีลักษณะเด่นคือ การตัดเย็บ mesh plug จาก Mersilene มีรูปแบบที่แตกต่าง พร้อมที่จะใช้ มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเท่ากับรูปแบบทางการค้าอื่นที่มีอยู่ แต่มีราคาถูกกว่ามาก และมีการวิจัยรองรับว่าสามารถใช้รักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย หลักการ วิธีการ และกรรมวิธี การรักษาผู้ป่วยไส้เลื่อนที่ขาหนีบต้องทำโดยการผ่าตัดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น รูปแบบทางการค้าของ mesh ที่ใช้ในการผ่าตัดรักษามีราคาแพง คณะผู้ประดิษฐ์จึงได้คิดค้นรูปแบบการตัดเย็บวัสดุ Mersilene เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยดังรูปที่ได้แนบมาในเอกสาร การวิจัยเกี่ยวกับผลการรักษาของนวัตกรรมนี้ได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้ป่วย ๙๔ ราย ที่ได้รับการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็นไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมการวิจัย ผู้ป่วย ๒๕ ราย ได้รับการรักษาโดยใช้ mesh plug ที่ตัดเย็บขึ้นเอง ผู้ป่วย ๒๖ ราย ได้รับการรักษาโดยวิธีผ่าตัด Lichtenstein ซึ่งใช้ mesh โดยไม่มีส่วนที่เป็น plug เข้าไปเสริม และผู้ป่วย ๓๖ ราย ได้รับการรักษาโดยวิธี Bassini operation ซึ่งไม่ใช้ mesh ผู้ป่วยทั้ง ๙๔ ราย ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดอย่างปลอดภัย
ในการศึกษานี้ไม่พบอัตราการตายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยที่รักษาโดยวิธี Bassini operation มีการเกิดไส้เลื่อนซ้ำ ๓ ราย ส่วนผู้ป่วยที่รักษาโดยวิธี Lichtenstein และผู้ป่วยที่ใช้ mesh plug ที่ตัดเย็บขึ้นเองไม่พบการเกิดเป็นซ้ำ พบการบวมที่ขาหนีบและห้อเลือดในผู้ป่วย ๒ ราย (๑ ราย ผ่าตัดรักษาโดยใช้ mesh plug ที่ตัดเย็บขึ้นเองและอีก ๑ ราย ผ่าตัดรักษาโดยวิธี Lichtenstein) ผู้ป่วยทุกรายไม่มีการติดเชื้อที่แผลผ่าตัด เวลาที่ใช้ในการผ่าตัดโดยวิธี mesh plug ที่ตัดเย็บขึ้นเองคือ ๔๕ ถึง ๗๕ นาที (เฉลี่ย ๖๐ นาที) วิธี Lichtenstein คือ ๓๐ ถึง ๑๒๐ นาที (เฉลี่ย ๘๒ นาที) และวิธี Bassini operation คือ ๓๐ ถึง ๑๓๕ นาที (เฉลี่ย ๘๒ นาที)
สรุป การผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบโดยการใช้ mesh plug ที่ตัดเย็บขึ้นเองมีความปลอดภัย วัสดุที่ใช้ทำมาจาก Mersilene mesh และทำการตัดเย็บเอง มีราคาถูกกว่า อัตราการเกิดเป็นซ้ำของโรคเท่ากับการผ่าตัดแบบ Lichtenstein แต่น้อยกว่าการผ่าตัดแบบที่ไม่ใช้ mesh ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเกิดขึ้นหลังการผ่าตัด วัสดุที่ใช้ในการประดิษฐ์คิดค้น ตัดเย็บจาก Mersilene mesh ที่มีขายอยู่ เชื่อมต่อด้วยเครื่องรีดร้อนและเย็บประกอบด้วยมือ โดยงบประมาณที่ใช้ในการประดิษฐ์คิดค้นต่อชุดประมาณ ๑๖๗ บาท โดยประโยชน์ที่ได้รับ ก. เมื่อยังไม่ได้ใช้ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ต้องใช้วัสดุที่มีราคาแพง เสียเวลาในการจัดรูปแบบระหว่างผ่าตัด ข. หลังจากที่ได้ใช้ผลงานประดิษฐ์คิดค้น มีราคาถูกลงมาก ง่ายต่อการใช้ เนื่องจากได้ตัดเย็บรูปแบบไว้แล้ว สามารถนำไปใช้ได้เลย งานวิจัยรองรับว่าใช้รักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย สามารถนำไปพัฒนารูปแบบการค้า ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล สำหรับทานใดที่สนใจนำผลงานไปใช้ประโยชน์ ปัจจุบันคณะผู้วิจัยได้ใช้ Tailor-made mesh plug รักษาผู้ป่วยไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบเป็นจำนวนประมาณ ๙๐ ราย ไม่พบว่ามีการกลับเป็นซ้ำหรือภาวะแทรกซ้อนทีเกี่ยวข้องกับการใช้วัสดุนี้ นอกจากนี้ได้ดำเนินการขอสิทธิบัตร เผยแพร่ สร้างรูปแบบการผลิต และ การจัดส่งให้แก่ผู้ที่ต้องการนำไปใช้ สามารถติดต่อได้ที่ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. ๐๒-๒๐๑-๑๕๒๗,๐๒-๒๐๑-๑๓๑๕ โทรสาร ๐๒-๒๐๑-๑๓๑๖

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ