กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานมี ๘ จังหวัดได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ขณะนี้สถานการณ์ได้คลี่คลายแล้ว เหลือเพียง ๓ จังหวัดที่ยังคงประสบปัญหาอุทกภัย เบื้องต้นได้ประสานให้จังหวัด อำเภอ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ พร้อมเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ตลอดจนเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัย สำหรับการรับมืออันตรายจากฝนตกหนักในภาคเหนือ และภาคอีสาน โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน พิษณุโลก ขอนแก่น และแพร่ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเตรียมรับสถานการณ์ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อจะได้แจ้งเตือนภัยได้อย่างทันท่วงที นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า อิทธิพลจากร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านประเทศไทย ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้างในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยขณะนี้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม ๘ จังหวัด ๒๐ อำเภอ ๑๐๔ ตำบล ๓๐๖ หมู่บ้าน ได้แก่ น่าน กำแพงเพชร สุราษฎร์ธานี ชุมพร พังงา พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา และอุทัยธานี ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ๑๑๒,๘๓๒ คน ๒๘,๒๐๘ ครัวเรือน บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายบางส่วน ๑๙๕ หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหาย ๘๖,๗๒๕ ไร่ ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยได้คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ๕ จังหวัด ยังคงเหลืออีก ๓ จังหวัดที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี ๓ อำเภอ ได้แก่ อำเภอสว่างอารมณ์ อำเภอทัพทัน และอำเภอเมืองอุทัยธานี คาดจะเข้าสู่ภาวะปกติในสัปดาห์นี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๒ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา และอำเภอผักไห่ ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตร บางแห่ง คาดสถานการณ์น้ำท่วมจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน ๒ - ๓ วัน จังหวัดนครราชสีมาอำเภอเมือง ระดับน้ำลดลงแล้ว แต่ยังคงมีน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรบางพื้นที่ คาดสถานการณ์น้ำท่วมจะเข้าสู่ปกติภายใน ๑ สัปดาห์ สำหรับการให้ความช่วยเหลือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานไปยังจังหวัด อำเภอ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จัดเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือประชาชน ที่ประสบอุทกภัยในเบื้องต้นแล้ว พร้อมเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป อีกทั้งได้ระดม นำเครื่องสูบน้ำจำนวน ๘ เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำจำนวน ๙ เครื่อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัย นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า จากการตรวจติดตามลักษณะอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่าในช่วงวันที่ ๒๑ - ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ร่องฝนพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกชุกหนาแน่น และตกหนักในบางพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้พื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะบริเวณอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก อำเภอชำสูง จังหวัดขอนแก่น อำเภอเมืองแพร่ อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ เกิดดินถล่มได้ จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยในบริเวณดังกล่าว เตรียมรับมือและเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่มที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งประสานให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงทีตามแผนปฏิบัติการที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย หรือทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป