กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--ปตท.
อีกหนึ่งทางเลือกของเชื้อเพลิงชีวภาพ พลังแห่งอนาคต คุณสมบัติเทียบเท่าน้ำมันดีเซล ประหยัด ลดมลภาวะ ลดภาระประเทศและประชาชน
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พลโท หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานฯ และ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นสักขีพยานใน “พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาน้ำมัน Bio-Hydrogenated Diesel” ระหว่าง นายส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. กับ มร.มิทซึฮิโระ โซโนดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ มร.เรียวอิจิ ซาซากิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด
พลโท หญิง พูนภิรมย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศและประชาชนได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามจากการเติบโตของเศรษฐกิจทำให้ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงและการนำเข้าน้ำมันของประเทศไทยยังคงมีปริมาณสูง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันประหยัดอย่างจริงจัง รวมถึงแสวงหาและพัฒนาพลังงานทางเลือกประเภทอื่นที่หลากหลาย เพื่อช่วยทดแทนการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง
กระทรวงพลังงาน เห็นว่า การศึกษาและพัฒนาน้ำมัน Bio-Hydrogenated Diesel หรือ BHD ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยความร่วมมือระหว่าง ปตท. และกลุ่มบริษัทโตโยต้า จะนำมาซึ่งการสรรค์สร้างนวัตกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพทางเลือกใหม่ที่สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้หลายประการ คือ ซึ่งสามารถผลิตได้จากวัตถุดิบหลายประเภท รวมทั้งวัตถุดิบที่ไม่ใช่เป็นพืชอาหาร เช่น สบู่ดำ และ สาหร่าย เป็นต้น ซึ่งจะลดความเสี่ยงปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบจากการใช้ผลผลิตการเกษตร นอกจากนั้น BHD ยังสามารถผสมในน้ำมันดีเซลได้มากกว่าร้อยละ 10 โดยยังคงมีคุณสมบัติที่เหมาะสม สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลเช่นเดียวกับน้ำมันเชื้อเพลิงเดิม ตรงตามนโยบายของภาครัฐ ที่สำคัญ ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนในปัจจุบันด้วย
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. ได้ติดตามกระแสพลังงานและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลกที่มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ปตท. ก็ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาพลังงานทดแทน นับตั้งแต่การพัฒนา “น้ำมันแก๊สโซฮอล์” “น้ำมันดีเซลปาล์มบริสุทธิ์” และ “น้ำมันไบโอดีเซล B5 Plus” รวมถึง “ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์” เป็นรายแรกของประเทศ เพื่อช่วยลดรายจ่ายของประชาชนและของประเทศ
ล่าสุด ปตท. โดย สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ ร่วมกับกลุ่มบริษัทโตโยต้า ได้ศึกษาวิจัยการนำน้ำมันพืชมาผ่านกระบวนการ Hydrogenation เพื่อให้ได้น้ำมันที่เรียกว่า Bio- Hydrogenated Diesel ที่มีโครงสร้างเช่นเดียวกับน้ำมันดีเซลแต่มีคุณภาพที่สูงกว่า ด้วยค่าซีเทนที่สูงกว่า 80 ช่วยให้เครื่องยนต์สตาร์ทติดง่าย เผาไหม้สมบูรณ์กว่า ทั้งยังปราศจากกำมะถัน ส่งผลให้ค่ามลพิษไอเสียน้อยกว่าเชื้อเพลิงเดิม ซึ่ง ปตท. พร้อมนำน้ำมัน Bio-Hydrogenated Diesel นี้ ไปวิจัยพัฒนาและทดสอบเพื่อความมั่นใจและนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่นี้ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล พร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์แก่ประชาชนต่อไป โดยกำหนดแผนการทดลองตั้งแต่ปี 2551-2552
มร.ชิเกกิ ซูซูกิ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น (TMC) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนการขยายตัวในการปลูกปาล์มน้ำมันมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรเพื่อการปลูกพืชน้ำมัน โตโยต้าขอแนะนำ BHD ซึ่งเป็นวิธีการใช้น้ำมันปาล์มที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า เนื่องจาก BHD ไม่ส่งผลกระทบทางด้านควันไอเสีย และความทนทานของเครื่องยนต์ แตกต่างจากน้ำมันไบโอดีเซลแบบเดิม และยังสามารถใช้ได้ในปริมาณที่มากกับรถยนต์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โตโยต้าเชื่อว่า BHD เป็นเทคโนโลยีที่จะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่า BHD จะช่วยลดก๊าซไอเสีย เขม่า และคาร์บอนมอนอกไซด์ และช่วยส่งเสริมสภาวะแวดล้อมในเมืองให้ดียิ่งขึ้น
มร.เรียวอิจิ ซาซากิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TMAP-EM) เปิดเผยว่า ดังเป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องนำเข้าน้ำมันในปริมาณมากท่ามกลางสภาวะราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีวัตถุดิบที่สามารถนำมาผ่านกระบวนการเพื่อผลิตน้ำมันได้มากมาย ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย จึงทรงส่งเสริมการพัฒนาและใช้น้ำมันไบโอดีเซล ดังนั้น TMAP-EM ซึ่งรับผิดชอบในการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศไทย จึงได้เล็งเห็นถึงการสนับสนุนโครงการใช้ชีวมวลเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงในประเทศไทย และถือว่าการวิจัยร่วมกับ ปตท.ในครั้งนี้เป็นภาระหน้าที่ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับเรา โดย TMAP-EM จะให้การสนับสนุนทางด้านเทคนิคเพื่อการประเมินผลรถยนต์ และเครื่องยนต์ เช่นเดียวกับการทดสอบเพื่อประเมินผลกระทบจากการใช้น้ำมันที่เกิดขึ้นกับวัสดุภายในเครื่องยนต์ และระบบจ่ายน้ำมัน ซึ่งเรามีความตั้งใจในการส่งเสริมความสำเร็จของโครงการนี้บนพื้นฐานแห่งศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีของ โตโยต้า
มร.มิทซึฮิโระ โซโนดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (TMT) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ โตโยต้า แนะนำรถกระบะ ไฮลักซ์ วีโก้ ซึ่งใช้เครื่องยนต์ดีเซลเข้าสู่ตลาด ได้รับการตอบรับเป็นอย่างสูงจากลูกค้าชาวไทย เราถือเป็นความรับผิดชอบในการพัฒนารถรุ่นนี้ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ตระหนักดีในการมุ่งส่งเสริมสังคมไทย และอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงพยายามตอบสนองความต้องการของลูกค้าและนโยบายรัฐบาลทางด้านการประหยัดพลังงานและรักษาสภาพแวดล้อม และดังที่ทุกท่านได้กล่าวถึงคุณสมบัติที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ไม่เพียงแต่กับลูกค้าของโตโยต้า แต่จะเกิดประโยชน์กับลูกค้าที่ใช้น้ำมันดีเซลทั่วไป เราจึงมีความตั้งใจในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ เพื่อมอบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นให้กับลูกค้า พร้อมส่งเสริมการขยายตัวของตลาดรถปิกอัพเครื่องยนต์ดีเซลต่อไปในอนาคต