ปภ. กำหนดฝึกซ้อมแผนป้องกันภัยพิบัติ ตามสภาพพื้นที่เสี่ยงภัยระดับกลุ่มจังหวัด

ข่าวทั่วไป Monday June 2, 2008 10:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต จังหวัด กรุงเทพมหานคร และอำเภอ ฝึกซ้อมแผนป้องกันภัยพิบัติตามสภาพพื้นที่ความเสี่ยงทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑ โดยมีการซ้อมแผนแบบในที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX) และการฝึกซ้อมแผนแบบปฏิบัติการจริง (Field Training Exercise : FTX) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความชำนาญ และมีประสบการณ์ในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญ กับภัยพิบัติที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงและบ่อยครั้งมากยิ่งขึ้น ซึ่งความสูญเสียดังกล่าว จะลดน้อยลงได้หากทุกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องมีการฝึกซ้อมแผนเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะหน่วยงานกลางของภาครัฐในการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ จึงได้ประสานให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทั้ง ๑๒ เขต จังหวัด กรุงเทพมหานครและอำเภอ จัดฝึกซ้อมแผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนระดับกลุ่มจังหวัด ระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๑ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑ โดยการซ้อมแผนระดับภูมิภาคอาเซียน ในปี ๒๕๕๑ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการฝึกซ้อมแผน กำหนดจัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม ณ จังหวัดระยอง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนากลไกด้านการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ระดับกลุ่มจังหวัด ได้ประสานให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทั้ง ๑๒ เขต ซ้อมแผนปฏิบัติการจริงตามสภาพความเสี่ยงภัยในแต่ละพื้นที่จำนวน ๓ ประเภทจาก ๕ ประเภท ได้แก่ อัคคีภัยในอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่ การก่อวินาศกรรม อุบัติภัยจากสารเคมี อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม และแผ่นดินไหว ระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร กำหนดให้ทุกจังหวัดฝึกซ้อมแผนตามสภาพและข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฝึกซ้อมแบบปฏิบัติการจริง จำนวน ๒ ครั้ง ระดับอำเภอ ให้ทุกจังหวัดแจ้งอำเภอบูรณาการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆ จัดฝึกซ้อมแผนระดับอำเภอ ตามสภาพพื้นที่เสี่ยงภัย โดยใช้แผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนอำเภอ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นกรอบ โดยเลือกทำการฝึกซ้อมแบบในที่บังคับการหรือซ้อมแบบปฏิบัติการจริงอย่างน้อย ๑ ภัย ทั้งนี้ ภายหลังการฝึกซ้อมทุกครั้งแผนจะมีการสรุปและประเมินผล เพื่อนำผลการฝึกซ้อมไปปรับปรุง แก้ไขในการบริหารจัดการสาธารณภัยในระยะยาว การฝึกซ้อมแผนดังกล่าว จะทำให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความชำนาญ และเกิดประสบการณ์ร่วมกันในการป้องกัน แก้ไข และบรรเทาภัยพิบัติต่างๆในพื้นที่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมทางด้านบุคลากร เครื่องจักรกล ยานพาหนะ อุปกรณ์กู้ภัย และทรัพยากรอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยมีความเชื่อมั่นและมั่นใจในความปลอดภัย อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการทำงานร่วมกันของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อันจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ