กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--ปภ.
จากเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กีสพัดถล่มประเทศพม่า และเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด ๗.๙ ริกเตอร์ ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้สร้างความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมากมายมหาศาล ถึงแม้มิได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย แต่เหตุการณ์ภัยพิบัติที่รุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียงประเทศไทยและในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน สะท้อนให้เห็นว่าธรรมชาติได้ส่งสัญญาณเตือนให้มนุษยชาติตระหนักถึงแนวโน้มการเกิดภัยพิบัติที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแนะวิธีเรียนรู้และรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่นับวันยิ่งรุนแรง และมีความแปรปรวนมากขึ้น ดังนี้ ช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติ ควรหมั่นศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับภัยธรรมชาติประเภทต่างๆ เพื่อให้เข้าใจ ถึงสาเหตุและลักษณะของภัยแต่ละประเภท รวมถึงเรียนรู้การดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องและปลอดภัยภายใต้สถานการณ์ภัยพิบัติ ได้แก่ ศึกษาเส้นทางหนีภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยหากจำเป็นต้องมีการอพยพ กรณีเกิดแผ่นดินไหวไม่ควรวิ่งหนีออกจากอาคาร ควรหาที่หลบหรือที่กำบังที่แข็งแรงเพื่อป้องกันสิ่งของตกใส่ หากเกิด คลื่นยักษ์ซัดฝั่งให้รีบหนีขึ้นที่สูงโดยเร็วที่สุด เป็นต้น ตลอดจนเรียนรู้วิธีการรับมือภัยพิบัติฉุกเฉินด้วยตนเอง ในสถานการณ์ต่างๆ อีกทั้งควรตระหนักอยู่เสมอว่าภัยธรรมชาติเป็นเรื่องใกล้ตัวสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ และทุกเวลา จึงต้องหมั่นติดตามพยากรณ์อากาศ เตรียมพร้อมรับฟังข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง เฝ้าสังเกตสัญญาณเตือนภัยหรือเหตุผิดปกติต่างๆ ที่บ่งชี้ว่าอาจเกิดภัยพิบัติ รวมถึงรับฟังคำเตือนของเจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อคาดการณ์แนวโน้มการเกิดภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ ที่สำคัญ ควรจัดเตรียม เครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ และยารักษาโรคให้พร้อม เพื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการติดตั้งระบบความปลอดภัยในอาคารบ้านเรือน หลีกเลี่ยงการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ ได้แก่ พื้นที่ที่กีดขวางทางไหลของน้ำ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย รวมทั้งควรออกแบบอาคารบ้านเรือนให้สามารถรองรับการเกิดภัยพิบัติได้ หากตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ควรสร้างบ้านลักษณะยกพื้นใต้ถุนสูง หากตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว ควรสร้างบ้านที่มีโครงสร้างยืดหยุ่น เช่น บ้านไม้ เนื่องจากสามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ดี เพื่อลดผลกระทบจากสภาพความเสี่ยงภัยในแต่ละพื้นที่ ระหว่างเกิดภัยพิบัติ ผู้ประสบภัยควรตั้งสติให้มั่น อย่าตื่นตระหนกตกใจ ให้ตั้งสติและค่อยๆหาทางรับมือภัยพิบัติด้วยความระมัดระวังตลอเวลา ปฏิบัติตนตามข้อแนะนำเกี่ยวกับหลักความปลอดภัยในการเผชิญกับภัยพิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะแค่เพียงเสี้ยววินาทีที่ตัดสินใจผิดพลาด อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต พร้อมทั้งหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสาร คำแจ้งเตือน และวิธีปฏิบัติตนเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งไม่เผยแพร่ข่าวลือ หรือหลงเชื่อข่าวลืออย่างเด็ดขาด เพราะอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าแม้มนุษย์จะสามารถคาดการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ ว่าจะเกิดขึ้น ณ ที่ใด และเวลาใด แต่ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงหรือยับยั้งการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ หากความสูญเสียดังกล่าวสามารถลดลงได้ หากรู้จักการเตรียมความพร้อม เรียนรู้ และศึกษาให้เข้าใจถึงสาเหตุและลักษณะของภัย พร้อมทั้งตระหนัก อยู่เสมอว่าภัยพิบัติเป็นเรื่องใกล้ตัว และเตรียมรับมือภัยพิบัติอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ ต้องตั้งสติให้มั่น ไม่ตื่นตระหนกตกใจ และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยเพิ่ม ความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินจากสถานการณ์ภัยพิบัติได้