ก.ล.ต. สั่ง PP และ TCJ ทำ special audit

ข่าวทั่วไป Friday June 10, 2005 11:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. สั่ง 2 บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในหมวด rehabco ได้แก่ บริษัท เพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) (“PP”) และบริษัท ที.ซี.เจ. เอเซีย จำกัด (มหาชน) (“TCJ”) จัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) พร้อมกับเตือนผู้ลงทุนให้วิเคราะห์ข้อมูลด้วยความระมัดระวังก่อนตัดสินใจลงทุน
เนื่องจาก ก.ล.ต. พบประเด็นข้อสงสัยบางรายการในงบการเงินของ 2 บริษัทจดทะเบียนในหมวด rehabco ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการขอย้ายกลับไปซื้อขายในกระดานปกติ ได้แก่ PP และ TCJ ซึ่งมีความคลุมเครือ
ไม่ชัดเจน และอาจมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน ก.ล.ต. จึงสั่งการให้ PP และ TCJ ดำเนินการดังนี้
PP : จัดให้มี special audit เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการบันทึกรายได้ตามมาตรฐานการบัญชี การบันทึกรายการเงินทดรองจ่ายและการรับชำระคืน และการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ในงบการเงินสำหรับงวดปี 2547 และสำหรับงวดไตรมาสที่ 1 ปี 2548 โดยให้นำส่งรายงาน special audit ต่อ ก.ล.ต. ภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2548
TCJ : จัดให้มี special audit เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการบันทึกค่าความนิยม (goodwill) จากการซื้อ บริษัท โตโยมิลเลนเนียม จำกัด และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน ในงบการเงินสำหรับงวดปี 2547 โดยให้นำส่งรายงาน special audit ภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2548รวมทั้ง ให้ปรับปรุงงบกำไรขาดทุนรวมประจำปี 2547 ให้ถูกต้อง โดยให้นำส่งฉบับแก้ไขภายในวันที่ 24 มิถุนายน 2548
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ ผมขอเตือนผู้ลงทุนที่สนใจหุ้นในกลุ่ม rehabco ให้ใช้ความระมัดระวังในการวิเคราะห์งบการเงินของบริษัทต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทนั้น ๆ สามารถพลิกฟื้นธุรกิจได้จริง และในด้าน ก.ล.ต. ก็จะขอให้ผู้สอบบัญชีของบริษัทในกลุ่มนี้ดูแลรายการบัญชีอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษด้วยอีกทางหนึ่ง โดยจะกำชับให้เน้นรายการที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อป้องกัน
มิให้มีลักษณะเป็นการสร้างรายได้หรือสร้างกำไร โดยมุ่งหวังให้บริษัทของตนพ้นจากกลุ่ม rehabco
กลับไปค้าในกระดานปกติ ”
กรณีสั่ง PP ทำ special audit
ก.ล.ต. สั่งให้บริษัท เพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) (“PP”) จัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) ในเรื่องความถูกต้องของการบันทึกรายได้ตามมาตรฐานการบัญชี การบันทึกรายการ
เงินทดรองจ่ายและการรับชำระคืน และการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ในงบการเงินสำหรับงวดปี 2547
และสำหรับงวดไตรมาสที่ 1 ปี 2548 โดย PP จะต้องนำส่งรายงานการตรวจสอบกรณีพิเศษต่อ ก.ล.ต.
ภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2548
สาเหตุของการสั่งการดังกล่าวเนื่องจากก.ล.ต. พบว่าการบันทึกรายได้ตามมาตรฐานการบัญชี การ
บันทึกรายการเงินทดรองจ่ายและการรับชำระคืน และการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ยังมีความคลุมเครือ
ไม่ชัดเจน ซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนในประเด็นดังต่อไปนี้
1. รายได้ที่รับรู้ในงบการเงินงวดปี 2547
ก.ล.ต. มีข้อสงสัยในความสมเหตุสมผลของรายได้ดังต่อไปนี้
- รายได้จากการให้บริการเป็นที่ปรึกษาโครงการให้แก่ 2 บริษัทประมาณ 29 ล้านบาท (คิดเป็น
ร้อยละ 34 ของรายได้รวม) ทั้งที่มีระยะเวลาทำงานช่วงสั้นเพียงระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม — 31 ธันวาคม 2547
- รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สินกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกันจำนวน 11.50 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ
13.43 ของรายได้รวม)
- รายได้จากการให้เช่าที่ดินกับบริษัทแห่งหนึ่ง จำนวน 14 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 16.35 ของ
รายได้รวม) ซึ่งมีความผิดปกติ เนื่องจากระยะเวลาตามสัญญาเช่าเดิม คือ 2 ปี แต่เมื่อใช้พื้นที่ไปเพียงประมาณ 5 เดือน ก็มีการยกเลิกสัญญา โดยที่ผู้เช่าไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหายทั้งที่ PP อาจเป็นผู้ยกเลิกสัญญาก่อน
2. รายได้ที่รับรู้ในงบการเงินงวดไตรมาสที่ 1 ปี 2548
PP มีการรับรู้รายได้จากงานก่อสร้าง 57.84 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 86.70 ของรายได้รวม) ซึ่งเป็นการรับรู้รายได้ตามอัตราส่วนของงานที่ทำเสร็จ (percentage of completion) แต่อัตราส่วนดังกล่าวนั้นเป็นประมาณการโดยพนักงานของ PP เอง ข้อสงสัยเกิดจากบางโครงการได้ประเมินว่า การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วทั้งที่ยังไม่ปรากฏค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น หรือบางโครงการได้ประเมินว่า การก่อสร้าง
คืบหน้าไปมาก ทั้งที่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่ามาก ก.ล.ต. จึงมีข้อสงสัยว่า การบันทึก
รายได้เป็นไปตามอัตราส่วนของงานที่ทำเสร็จจริงหรือไม่
3. การจ่ายเงินทดรองจ่ายในโครงการร่วมลงทุน
- PP ลงทุนในกิจการร่วมค้าแห่งหนึ่งในสัดส่วนร้อยละ 10 แต่ได้มีการจ่ายเงินไปใช้ในโครงการ
รวมทั้งใช้เงินฝากธนาคารของ PP ไปค้ำประกันเป็นเงินจำนวนที่เกินสัดส่วนการลงทุนดังกล่าวมาก และ PP ได้จ่ายเงินทดรองจ่ายให้แก่ผู้ร่วมลงทุนรายหนึ่งเป็นจำนวน 143 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2547 แต่เพิ่งจะได้รับชำระคืน 100 ล้านบาทเพียง 1 วันก่อนที่ผู้สอบบัญชีจะออกรายงาน และภายหลังจากผู้สอบบัญชีออกรายงานแล้ว 5 วัน ก็ได้มีการโอนเงินดังกล่าวออกไปอีก ก.ล.ต. จึงมีข้อสงสัยว่า ผู้ร่วมลงทุนในกิจการร่วมค้าดังกล่าวมีความเป็นอิสระจาก PP จริงหรือไม่
- นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2548 เป็นต้นมา PP มีการจ่ายเงินทดรองจ่ายให้แก่บริษัทแห่งหนึ่งเพื่อ
นำไปใช้ในอีกโครงการหนึ่งหลายครั้งโดยที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่า การจ่ายเงินทดรองดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทดังกล่าวนำเงินไปใช้จ่ายในโครงการในเรื่องใด ทำให้สงสัยว่าประเภทรายการและมูลค่าในการบันทึกบัญชีเป็นไปตามเนื้อหาสาระที่แท้จริงของธุรกรรมหรือไม่
ก.ล.ต. จึงได้สั่งให้ PP จัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญอิสระประเมิน
อัตราส่วนของงานที่ทำเสร็จ และจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับความสมเหตุสมผลของรายได้เหล่านี้ โดยให้กรรมการตรวจสอบทุกรายต้องยืนยันความสมเหตุสมผลของรายการบัญชีเหล่านี้ต่อ ก.ล.ต. เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ด้วย
กรณีสั่ง TCJ ทำ special audit และแก้ไขงบกำไรขาดทุนรวม
ก.ล.ต. สั่งให้บริษัท ที.ซี.เจ. เอเซีย จำกัด (มหาชน) (“TCJ”) จัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) ในเรื่องความถูกต้องของการบันทึกค่าความนิยม (goodwill) จากการซื้อ บริษัท โตโย มิลเลนเนียม จำกัด (“TOYO”) และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน ใน
งบการเงินสำหรับงวดปี 2547 โดย TCJ จะต้องนำส่งรายงานการตรวจสอบกรณีพิเศษต่อ ก.ล.ต. ภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2548
สาเหตุของการสั่งการดังกล่าวเนื่องจาก ก.ล.ต. พบว่า การบันทึกค่าความนิยม และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน ยังมีความคลุมเครือไม่ชัดเจน ซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจของ
ผู้ลงทุนในประเด็นดังต่อไปนี้
1. ค่าความนิยมจากการซื้อกิจการ TOYO จำนวน 161 ล้านบาท
TCJ ซื้อหุ้น TOYO มาในราคา 333 ล้านบาท ในขณะที่ราคาสินทรัพย์สุทธิของ TOYO มีเพียง 172 ล้านบาท ทำให้มีการบันทึกค่าความนิยมจำนวน 161 ล้านบาท (มาจากส่วนต่างระหว่างราคาจ่ายซื้อ 333 ลบด้วยราคาสินทรัพย์สุทธิ 172) ซึ่งมีข้อสังเกตว่า การบันทึกค่าความนิยมดังกล่าวถูกต้องหรือไม่
เนื่องจาก
- TOYO เพิ่งเริ่มผลิตและจำหน่ายได้เพียงปีกว่า มิได้มีการสะสมชื่อเสียงยี่ห้อมาเป็นเวลานาน
แต่อย่างใด และวิธีการขายสินค้าของ TOYO ก็พึ่งพิงการจำหน่ายผ่านบริษัทที่มีลักษณะอาจเกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TCJ จึงไม่มีความชัดเจนว่า ค่าความนิยมที่ TCJ ยอมจ่ายนั้นคือ มูลค่าของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในเรื่องใด
- กลุ่มบุคคลที่ขายหุ้น TOYO ให้แก่ TCJ นั้นยังมีการทำธุรกรรมอื่น ๆ อีกหลายรายการที่มีลักษณะพัวพันกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ TCJ จึงมีข้อสงสัยว่ากลุ่มบุคคลนี้มีความเป็นอิสระจาก TCJ จริงหรือไม่
2. การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกิจการที่เกี่ยวข้องกันTCJ อาจจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกิจการที่เกี่ยวข้องไม่ครบถ้วน เนื่องจากพบว่า มีกิจการที่ค้าขายกับ TCJ และ TOYO บางแห่ง มีผู้ถือหุ้นและกรรมการร่วมกันกับบริษัทส่วนตัวของผู้ถือหุ้นใหญ่ TCJ มีสำนักงานอยู่ในอาคารเดียวกับบริษัทส่วนตัวของผู้ถือหุ้นใหญ่ TCJ และกิจการเหล่านี้นอกจากจะเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ TCJ แล้ว ยังมีการซื้อขายสินค้าระหว่างกันเองในหมู่กิจการเป็นจำนวนมากด้วย
นอกจากนี้ ก.ล.ต. พบว่า การแสดงรายได้และค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนรวมประจำปี 2547 ของ TCJ ไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีการบันทึกรายได้และค่าใช้จ่ายของ TOYO ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ TOYO เข้าเป็นบริษัทย่อย ไว้ในงบกำไรขาดทุนรวมของ TCJ ด้วย ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ก.ล.ต. จึงสั่งให้ TCJ แก้ไขงบกำไรขาดทุนรวมประจำปี 2547 ให้ถูกต้อง และนำส่งงบกำไรขาดทุนรวมที่แก้ไขและผ่านการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีให้ ก.ล.ต. ภายในวันที่ 24 มิถุนายน 2548--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ