ไตรมาสแรกปี2548 ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้ 191,000 ล้านบาท

ข่าวทั่วไป Friday May 13, 2005 12:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--ปตท.
ปตท. เดินแผนกลยุทธ์ เชื่อมโยงธุรกิจกับบริษัทในเครือ (PTT Group) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนต่อหน่วย และสร้างมูลค่าเพิ่มจากก๊าซธรรมชาติ ภายใต้สถานการณ์การใช้ และราคาผลิตภัณฑ์ทั้งปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่ยังคงอยู่ในวงจรขาขึ้น ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปีนี้ ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้ เพิ่มขึ้น 39% และ มีกำไรสุทธิจากกิจกรรมปกติเพิ่มขึ้น 49% โดยส่วนใหญ่ประมาณ 55% ของกำไรสุทธิมาจากบริษัทย่อยและบริษัทร่วม พร้อมเดินหน้าลงทุนตามแผนปี 2548 มูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท ในโครงการขยายเครือข่ายระบบท่อรองรับความต้องการเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และการสร้างมูลค่าเพิ่มก๊าซธรรมชาติในสายปิโตรเคมี ต่อเนื่อง รวมทั้งเร่งลงทุนส่งเสริมพลังงานทดแทน ทั้ง NGV ก๊าซโซฮอล์ และงานวิจัยไบโอดีเซลอย่างต่อเนื่อง
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) แถลงผลการดำเนินงานของ ปตท. และบริษัทย่อย ในช่วงมกราคม-มีนาคม 2548 ว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศใน ช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้ชะลอตัวลง แต่ปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีโดยรวมของประเทศยังคงเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งราคาผลิตภัณฑ์ยังอยู่ในวงจรขาขึ้นตามตลาดโลก กอปรกับตั้งแต่ต้นปี 2548 ปตท. เริ่มมีรายได้ และกำไรจากการขยายการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานไปก่อนหน้านี้ อาทิ การลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบท่อส่งก๊าซฯในทะเล และ การก่อสร้างโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 5 ที่แล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2547 และเริ่มดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์ ในขณะที่โครงการผลิต HDPE (เม็ดพลาสติกความหนาแน่นสูง) ของบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NPC และโครงการส่วนขยายกำลังการผลิต เอทิลีนของ บริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOC แล้วเสร็จ เมื่อปลายปี 2547 สามารถรับวัตถุดิบจาก โรงแยกก๊าซฯ ของ ปตท.ไปผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต่อเนื่องที่มีมูลค่าสูงกว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และมีราคาอยู่ในช่วงขาขึ้นตามความต้องการของตลาด ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขาย 191, 161 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปีก่อน 39% มี EBITDA (กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย และค่าใช้จ่ายอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน) 24,316 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% และมีกำไรสุทธิตามกิจกรรมปกติ ของ ปตท. และบริษัทย่อย จำนวน 18,258 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49%(ไม่รวมรายการพิเศษจากการปรับโครงสร้างหนี้ บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (RRC) จำนวน 7,738 ล้านบาท) โดย กำไรดังกล่าวมาจากการดำเนินงานของ ปตท. จำนวน 8,241 ล้านบาท (คิดเป็นประมาณ 4%ของรายได้ ) และ จากบริษัทย่อย และบริษัทร่วมของ ปตท. จำนวน 10,017 ล้านบาท
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยรายละเอียดว่า กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ซึ่ง ประกอบธุรกิจแบบครบวงจร และได้ลงทุนสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีรายได้จากการขาย 46,915 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปีก่อน 19% โดยในส่วนของระบบท่อก๊าซฯ ได้มีการปรับปรุง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ของระบบท่อในทะเล ทำให้ การจำหน่ายก๊าซฯ ผ่านระบบท่อมีปริมาณเพิ่ม เป็น 2,970 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือ เพิ่มขึ้น 14% และเนื่องจากโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 5 ขนาดกำลังผลิต 530 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ที่ จ.ระยอง เริ่มดำเนินการผลิต ทำให้การจำหน่ายผลิตภัณฑ์รวมของโรงแยกก๊าซฯ เพิ่มขึ้นเป็น 803,251 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 18% อีกทั้ง บริษัท ปตท. สำรวจและผลิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มธุรกิจก๊าซฯ สามารถส่งกำไรสุทธิให้แก่ ปตท. จำนวน 2,749 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% เนื่องจากมีผลประกอบการดีขึ้นมาก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการขายก๊าซฯ และดอนเดนเสท ในโครงการบงกช ไพลิน และ เยตากุนเพิ่มขึ้น และราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยสูงขึ้น
ส่วนกลุ่มธุรกิจน้ำมัน มีรายได้รวม 164,150 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60% มียอดขายรวม 13,526 ล้านลิตรเพิ่มขึ้น 28%โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการขายที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจการค้าสากล ส่วนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในประเทศ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ปตท. ยังคงมีส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันในประเทศ เป็นอันดับ 1 ในสัดส่วน 34% (รวมปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเตา กฟผ.) โดยมียอดขายผลิตภัณฑ์ (น้ำมันเตา ดีเซล ก๊าด/อากาศยาน เบนซิน ก๊าซหุงต้ม และน้ำมันหล่อลื่น) รวม 3,726 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 4%
สำหรับ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น ในไตรมาสแรกมีส่วนแบ่งกำไรสุทธิตามสัดส่วนของ ปตท. จำนวน 5,733 ล้านบาท เนื่องจาก บริษัท NPC และ TOC สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากส่วนขยายที่เพิ่งแล้วเสร็จได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และค่าการกลั่นเฉลี่ยที่ยังคงอยู่ในภาวะขาขึ้น
นายประเสริฐฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานภายในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ของ ปตท. ทำให้สามารถเชื่อมโยงและผนึกพลังร่วมบริหารงานในลักษณะกลุ่มธุรกิจ (PTT Group) ตั้งแต่กระบวนการผลิตร่วม การจัดหาวัตถุดิบ และพิจารณาควบรวมธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ปัจจุบัน กลุ่ม ปตท. เป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าหุ้นใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ คือประมาณ 1 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 22.0% ของมูลค่าตลาดโดยรวมของตลาดหลักทรัพย์ เฉพาะหุ้น ปตท. มีมูลค่าในตลาดประมาณ 5 แสนล้านบาท หรือกว่า 11% ของมูลค่าตลาดฯ โดย ณ สิ้นไตรมาสแรก ของปีนี้ ปตท. มีสินทรัพย์ มูลค่ารวม 480,137 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2547 ที่ผ่านมา 1.5% หนี้สิน รวม 268,172 ล้านบาท ลดลง 11.3% ส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 211,965 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.6% ทั้งนี้ ในปี 2548 ปตท. มี แผนการลงทุนมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในธุรกิจก๊าซฯ อาทิ โครงการท่อก๊าซฯ เส้นที่ 3 โครงการท่อส่งก๊าซไทรน้อย-พระนครเหนือ-พระนครใต้ และโครงการท่อ NGV สุวรรณภูมิ-พญาไทเป็นต้น
อย่างไรก็ดี หลังการแปรรูปตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ปตท. ยังคงสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศและผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ ซึ่งมาจากภาครัฐฯ กองทุนของรัฐบาล และกองทุนของคนไทยรวมทั้งสิ้น 74.4 % ที่เหลืออีก 25.6% กระจายให้แก่ประชาชนทั่วไป และนักลงทุนรายย่อยต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ โดย ปตท. ยึดมั่นการดำเนินงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีการตรวจสอบจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น นักลงทุน นักวิเคราะห์ ตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินเป็นไปอย่างโปร่งใส ทำให้ ในปี 2548 นี้ ปตท. ยังคงได้รับการยอมรับให้เป็นบริษัทชั้นนำระดับประเทศและระดับโลกอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการจัดอันดับให้เป็นบรรษัทภิบาลที่ดีที่สุด (Best Corporate Governance) และบริษัทบริหารจัดการที่ดีที่สุด (Best Managed Company) ในประเทศไทย จากนิตยสาร AsiaMoney นิตยสาร FinanceAsia และThe Asset ซึ่งเป็นนิตยสารด้านการเงินและการลงทุนชั้นนำระหว่างประเทศ อีกทั้ง ปตท. ยังได้รับการจัด อันดับจาก นิตยสาร FORBES ให้เป็น บริษัทจดทะเบียนที่มีขนาดใหญ่อยู่ในลำดับที่ 425 จาก 2,000 แห่งของโลกด้วย
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับ TPI ที่หลายคนสนใจนั้น ขอชี้แจงว่าในกรณีที่ ปตท. ตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนใน TPI ปตท.มีวัตถุประสงค์จะเข้าลงทุนในระยะยาว ดังนั้น การบันทึกบัญชีจะบันทึกเป็นเงินลงทุนระยะยาว ซึ่งจะไม่มีการบันทึกบัญชีเป็นกำไรหรือขาดทุนในงบกำไรขาดทุนของ ปตท.จากการเข้าลงทุนในครั้งนี้ เว้นแต่เป็นการรับรู้ผลประกอบการของ TPI ตามสัดส่วนการถือหุ้นของ ปตท. เท่านั้น
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
โทร. 0-2537-2159,0-2537-2163--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ