กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--DEK -PR
โครงการสัมมนาเชิงวิชาการ สร้างความรู้ความเข้าใจตลาดอินเดีย โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดสัมมนา “ตะลุยภารตะ ขุมทรัพย์การค้า” เดินสายให้ความรู้ที่จังหวัดขอนแก่น โดยถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการทำธุรกิจกับอินเดียจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชน
นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า “อินเดียเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8 ต่อปี ประกอบกับเป็นตลาดใหม่ที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญในการวางยุทธศาตร์เพื่อขยายการค้า เนื่องจากเป็นตลาดขนาดใหญ่มีประชากร 1,100 ล้านคน และมีศักยภาพการเติบดตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้อินเดียเป็นตลาดที่น่าจับตามองของหลายๆประเทศ นอกจากนั้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะรับผิดชอบเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ทำหน้าที่เปิดประตูโดยเจรจาลดอุปสรรคทางการค้า เพื่อเป็นช่องทางขยายการค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย
นายชนะ กล่าวต่อว่า “ปัจจุบันไทย-อินเดียเจรจาเปิดเสรี FTA การค้าสินค้าไปแล้วสำหรับกลุ่มแรกจำนวน 82 รายการ และยกเลิกภาษีไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2549 มูลค่าการค้ารวมได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 1,000 กว่าล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2546 เป็น 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2550 ซึ่งนับตั้งแต่ความตกลงมีผลบังคับใช้ในปี 2547 อันเป็นสัญญาณที่ดีว่าการค้าเริ่มขยายตัวหลังจากมีการใช้ประโยชน์จากการลดภาษีสินค้ากลุ่มดังกล่าว (82 รายหาร) ทั้งนี้ภาครัฐเองก็พยายามประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้ภาคเอกชน ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าสินค้าให้มากที่สุด ในการจัดสัมมนาในวันนี้ นอกเหนือจากวิทยากรจากภาครัฐ มีวิทยากรจากภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจกับอินเดียมาเล่าประสบการณ์เพื่อให้ผู้ที่สนใจทำธุรกิจในตลาดอินเดียเตรียมความพร้อมตัวและศึกษาข้อมูลเพื่อแข่งขันต่อไป ซึ่งถ้าเตรียมตัวดีก็จะได้เปรียบในการแข่งขัน
นายเจตน์ ธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ประธานในงานสัมมนากล่าวเปิดสัมมนาในครั้งนี้ว่า “ขอนแก่นเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีประชากรกว่า 1,700,00 คน เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ดี อยู่ตรงกลางระหว่างจีนและอินเดีย โดยมีถนนมิตรภาพตัดกับ East-West Economic Corridor เชื่อมอินโดจีนและจีนตอนใต้ มีความพร้อมในเส้นทางโลจิสติกส์ และบุคลากร เพราะมีมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ติดอันดับต้น ๆ และการส่งเสริมจากภาครัฐที่ในเรื่องอีสานซอฟท์แวร์ปาร์ค เป็นนครเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงนับได้ว่าเป็นเมืองยุทธศาสตร์ในการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไปในอนาคต
การจัดสัมมนาครั้งนี้นับว่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาวอีสาน เราได้เห็นตลาดและศักยภาพของตลาดอินเดีย ทางภาครัฐเองก็มีความพร้อมที่จะสนับสนุน แต่การจะค้าขายให้สำเร็จจะต้องรู้เขา รู้เราด้วย ในการสัมมนาครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มพูนให้รู้เขาเพิ่มขึ้น ขอให้ท่านได้เก็บเกี่ยวเรื่องราวเหล่านี้ไปขยายผล โดยทางจังหวัดขอนแก่นเองก็จะร่วมมือด้วยเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจต่อไป”
การสัมมนา “ตะลุยภารตะ ขุมทรัพย์การค้า” ที่ขอนแก่น ประกอบไปด้วยวิทยากรหลากหลายทั้งจากภาครัฐที่ให้ความรู้ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดอินเดียและการการใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรี FTA ไทย-อินเดีย โดยครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากหัวหน้าคณะเจรจา นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และนางบุณิกา แจ่มใส ผู้อำนวยการส่วนเอเชียใต้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงภาคเอกชน 2 บริษัทที่มีประสบการณ์ตรงในตลาดอินเดีย นายอนุสรณ์ มุทราอิศ ประธานสภาธุรกิจไทย-อินเดีย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและกรรมการบริหาร บมจ. เดลต้า อิเลคทรอนิคส์ ประเทศไทย และนายเฉลิมพล ฮุนพงษ์สิมานนท์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายขายต่างประเทศ บจก. เอสซีจี พลาสติกส์ (ในเครือปูนซีเมนต์ไทย) มาบอกเล่าข้อมูลและแลกเปลี่ยนประสบการณ
นางบุณิกา แจ่มใส ผู้อำนวยการส่วนเอเชียใต้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ความรู้เกี่ยวกับตลาดอินเดียว่า “อินเดียเริ่มให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจและการเปิดเสรีทางการค้า ตั้งแต่ปี 1991 โดยใช้นโยบาย Look East คือสร้างเชื่อมโยงกับกลุมประทเศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ ไทยก็มีนโยบาย Look West ที่มุ่งหาพันธมิตรทางเศรษฐกิจซึ่งนับเป็นนโยบายที่สอดคล้องกันพอดี ในขณะที่เมื่อเทียบปริมาณการค้ากับอินเดียในกลุ่มประเทศอาเซียน นับว่าสัดส่วนการค้าของไทยยังน้อยอยู่ น่าจะสามารถขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เพิ่มขึ้นได้ ปัจจุบันประเทศที่อินเดียนำเข้าสูงคือ จีน 7.3% รองลงมาคือ อเมริกา ส่วนประเทศในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ (2.2%) มาเลเซีย (2%) และไทย (0.8%) ไทยยังมีสัดส่วนการค้าต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แสดงให้เห็นโอกาสว่ายังมีอยู่อีกมาก”
คุณบุณิกากล่าวต่อว่า “ นับตั้งแต่ ปี 2547 มูลค่าการค้ารวมของไทย-อินเดีย ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2550 มีมูลค่าการค้ารวม 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 38% จากปี 2549 โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า กว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับสินค้าในกลุ่ม 82 รายการ ในปี 2550 มีมูลค่ารวม 451 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 9.5 % ของการค้ารวม
นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอกับอินเดียได้ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในครั้งนี้ด้วย หลังจากที่มีประสบการณ์ในการเจรจากับอินเดียตลอด 6 ปี นายชนะกล่าวว่า
“ตลาดที่ง่ายทุกคนก็อยากไปแต่การแข่งขันมีสูง ขณะที่ตลาดอินเดียยาก และยังมีอุปสรรคในด้านต่างๆ ประกอบกับ เป็นชาติที่มีความอดทน ไม่เชื่อใจใครง่าย ในการเดินทางไปอินเดียครั้งเดียวไม่สามารถจะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ กว่าจะเจรจาเปิดเสรีสินค้ากลุ่ม 82 รายการ ยังใช้เวลาในการเจรจาเกือบ 2ปี จากสินค้าทั้งหมดเกือบ 6,000 รายการ ทั้งยังมีเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งอินเดียกำหนดเงื่อนไขที่ค่อนข้างยากเพื่อไม่ให้เข้าสู่ตลาดอินเดียได้ง่าย ดังนั้นสิ่งสำคัญในการเจรจากับอินเดีย รวมทั้งการเจรจาธุรกิจคือเรื่องความอดทน”
นายอนุสรณ์ มุทราอิศ ประธานสภาธุรกิจไทย-อินเดีย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและกรรมการบริหาร บมจ. เดลต้า อิเลคทรอนิคส์ ประเทศไทย เล่าประสบการณ์ในการเข้าไปลงทุนในอินเดียที่มองในมุมต่างไปในฐานะนักธุรกิจก็มองเห็นวิกฤตเป็นโอกาส
“สาธารณูปโภคของอินเดียยังไม่ดีนัก ผมเห็นไฟดับและการขโมยไฟในอินเดียเลยเห็นโอกาสที่จะเข้าไปผลิตและจำหน่ายเครื่องสำรองไฟ จึงเริ่มทำธุรกิจในอินเดีย และจ้างคนอินเดียมาร่วมบริหารงาน ระบบราชการค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยาก เนื่องจากการบริหารแบ่งเป็นรัฐต่างๆ หลายรัฐ ซึ่งต้องเรียนรู้และเข้าใจความแตกต่าง เริ่มต้นในปีแรกมีรายได้ 4 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจาก 3-4 ปีผ่านไปยอดขายเริ่มขยายตัวสูงขึ้น ล่าสุดปีที่แล้วเรามียอกขาย 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบันเริ่มส่งออกสินค้าที่ผลิตในอินเดียเไปจีนเนื่องจากค่าแรงที่ต่ำกว่า ตอนนี้ Delta เป็นที่รู้จักดีในอินเดีย ให้การยอมรับDElta ดีมาก แม้จะเคยผลิตให้แบรนด์ใหญ่ๆ หลายแบรนด์ แต่ในอินเดียเราเริ่มพัฒนาแบรนด์เดลต้าให้เป็นที่รู้จัก โดยกำหนดตลาดกลางลงไปอย่างชัดเจน”
นายอนุสรณ์ กล่าวเสริมในเรื่องการจัดตั้งสภาธุรกิจไทยอินเดีย ทั้งนี้ในฐานะประธานสภาธุรกิจไทย-อินเดีย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่เพิ่งจัดตั้งเป็นความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมธุรกิจระหว่างไทยและอินเดียให้มีมากยิ่งขึ้น
นายเฉลิมพล ฮุนพงษ์สิมานนท์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายขายต่างประเทศ บจก. เอสซีจี พลาสติกส์ (ในเครือปูนซีเมนต์ไทย) อีกหนึ่งบริษัทไทยที่เข้าไปตลาดอินเดีย กล่าวถึงประสบการณ์ด้านการบุกตลาดอินเดียว่า “อินเดียมีพื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของอเมริกา เป็นอันดับ 7 ของโลก ประชากรราวครึ่งหนึ่งอายุต่ำกว่า 25 ปี ทุกปีมีเด็กเกิดใหม่ 20 ล้านคน ค่าเงินบาทและรูปีเกือบเท่ากับ (1 รูปี = 1.3 บาท) ใครอยากลงทุน ก็ต้องศึกษาเยอะ ๆ เพราะว่าแต่ละรัฐมีจุดเด่นแตกต่างกัน แต่เป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีการเมืองมั่นคง คนอินเดียอ่านออกเขียนได้ 60 กว่า% พูดภาษาอังกฤษเก่งแต่ว่าเขียนไม่เก่ง ชอบข้อมูลข่าวสารมาก มักสืบค้นข้อมูลด้วยการใช้อินเตอร์เน็ตมาก แต่กลับมีการซื้อของออนไลน์น้อย เนื่องจากอยากเห็นสินค้าจริงมากกว่า”
นายเฉลิมพล แนะนำว่าหากต้องการทำธุรกิจกับอินเดีย ก็น่าจะหันไปมองทางใต้ของอินเดีย เนื่องจาก ทางเหนือและตะวันตกมีการพัฒนามากกว่าในแง่สาธารณูปโภคและการแข่งขันสูง เมื่อเทียบกับทางใต้ที่ยังมีการแข่งขันน้อย แนะนำให้ไปออกงานแสดงสินค้า ต้องมีเว็บไซต์ ในประเทศนี้ขายได้ทุกอย่าง
เมื่อเจรจาทำธุรกิจ ก่อนอื่นอินเดียจะคุยเรื่องราคา เขาต่อรองเก่งแต่ว่าให้ในราคาที่เราสามารถทำได้จริง หลังจากนั้นเขาจะขอดูภาพสินค้า แล้วจึงจะขอดูตัวอย่างสินค้า แล้วจึงตกลงเรื่องราคาอีกรอบหนึ่ง ข้อดีของการค้าขายกับอินเดีย คือสามารถเสนอแบรนด์ได้เลย ส่วนธรรมเนียมของการเจรจากับอินเดีย ควรแต่งตัวเป็นทางการเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและควรเตรียมนามบัตรไปมากๆ ในการคุยให้คุยกับคนที่อาวุโสก่อนและต้องอดทนมากๆ ในการเจรจาต่อรอง ถ้าอินเดียเชิญทานอาหารเย็นหมายความว่าธุรกิจได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ส่วนที่ยากที่สุดก็คือ การสั่งซื้อสินค้าครั้งแรก”