สนช. เชื่อมโยงองค์ความรู้จากการผลิต “ข้าวเกรียบไหมฟ้า และเซมเบ้ไหมฟ้า”

ข่าวทั่วไป Tuesday June 3, 2008 11:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--เอพีพีอาร์ มีเดีย
โครงการ“ข้าวเกรียบไหมฟ้า และเซมเบ้ไหมฟ้า”
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เป็นตัวการในการเชื่อมโยงองค์ความรู้จากการผลิต “ข้าวเกรียบไหมฟ้า และเซมเบ้ไหมฟ้า” จากมหาวิทยาลัยสู่บริษัท บดินทร์ไหมไทย-โคราช จำกัด เกิดเป็นธุรกิจนวัตกรรมบนฐานความรู้ ทั้งนี้ได้มีการเจรจาในการจ่ายค่าตอบแทนทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างบริษัทฯ ให้กับมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท โดยมีรายละเอียด ในการดำเนินโครงการดังนี้
1. ความใหม่ของผลิตภัณฑ์
เป็นครั้งแรกในประเทศไทยในการนำตัวไหมซึ่งเป็นของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการผลิตผ้าไหม มาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารประเภทขนมขบเคี้ยวในรูปแบบของข้าวเกรียบสำเร็จรูป และในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เซมเบ้ (ข้าวอบกรอบ) จะเป็นการยกระดับของอุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยว ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น เนื่องจากผลงานวิจัยของคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบว่า ตัวไหมมีกรด ไล-โน-เล-อิค และกรด ไล-โน-เล-นิค เป็นกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายต้องได้รับมีประโยชน์ต่อร่างกายคือ ลดไขมันในเลือด ทั้งไตรกลีเซอไรด์ และโคเรสเตอรอล นอกจากนี้ตัวไหมยังมี ฟอส-โฟ-ไล-ปิด (Phos-pholipid) ที่เป็นโครงสร้างของเยื่อเซลล์ทุกชนิด มีประโยชน์ต่อร่างกายคือ ควบคุมระดับคอเรสเตอรอล ยังอุดมไปด้วยโปรตีนจากตัวไหม
2. เทคโนโลยีการผลิต
2.1 การถนอมตัวไหมด้วยวิธีการอบแห้ง - ตัวไหมเป็นผลิตผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมเลี้ยงไหม ซึ่งโรงงานเลี้ยงไหมขนาดใหญ่จะมีตัวไหมออก เฉลี่ยปีละ 10 -12 ตัน (8 เดือน) โรงงานขายเป็นอาหารสด (ตัวสวย) และส่วนหนึ่งนำไปเป็นอาหารทอดกรอบสำหรับชาวบ้านใช้รับประทาน (ตัวไม่สวย) ประมาณกิโลกรัมละ 70 บาท และต้องเร่งขายเพราะจะทำให้เกิดการเน่าเสีย เนื่องจากในฤดูการผลิตจะมีตัวออกในปริมาณมาก ทั้งนี้ จึงต้องการกรรมวิธีถนอมตัวเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ
นวัตกรรม - ตัวไหมสามารถนำมาอบแห้ง ในสภาวะที่เหมาะสม (80-85 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง) แล้วนำมาตีป่น เก็บในภาชนะบบรรจุ จะยังรักษารสชาติและกลิ่นได้ดี ไม่เน่าเสียโดยง่าย สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อแปรรูปเป็นอาหารชนิดอื่นได้ (เช่น ผลิตภัณ์ข้าวเกรียบ)
2.2 การผลิตข้าวเกรียบไหมฟ้าอย่างเร็ว - การผลิตข้าวเกรียบแต่เดิมนั้น (ระดับวิสาหกิจชุมชนทั่วไป) มีระยะเวลาการผลิตที่นาน โดยหลังจากแป้งมันถูกนึ่งจนสุกแล้วจะต้องพักก้อนโด ให้คงตัวที่อุณหภูมิห้อง 10-12 ชั่วโมง แล้วนำมาหั่นสไลด์ ตากแดด 2-3 วัน และข้าวเกรียบที่มีโปรตีนสูงจำกัดแค่ในข้าวเกีรยบกุ้ง ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า ดังนั้น หากมีแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงราคาถูกกว่าและมีกรรมวิธีการผลิตที่ดีกว่าจะส่งเสริมการผลิตได้
นวัตกรรม - กรรมวิธีการผลิตแบบเร็วเชิงอุตสาหกรรมสามารถทำได้ ในขั้นตอนการพักโดที่อุณหภูมิต่ำ (7-10 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 -4 ชั่วโมง) จากนั้นอบแห้งที่อุณหภูมิ 80-85 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง ดังนั้น ข้าวเกรียบไหมฟ้าจะสามารถผลิตต่อเนื่องได้ในระยะเวลา 7-8 ชั่วโมง
2.3 กรรมวิธีการผลิตข้าวอบกรอบไหมฟ้าจากแป้งข้าวเหนียว - ข้าวอบกรอบของญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า เซมเบ้ (sembei) ผลิตจากข้าวญี่ปุ่น ซึ่งมีลักษณะเนื้อสัมผัส และรสชาติเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งในประเทศไทยผลิตข้าวอบกรอบจากข้าวหอมมะลิ แต่จากราคาข้าวหอมมะลิที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน จึงก่อให้เกิดปัญหาต้นทุนสูง ดังนั้น ทางเลือกหนึ่งคือการผลิตข้าวอบกรอบจากแป้งข้าวเหนียวซึ่งมีราคาถูกกว่า
นวัตกรรม - กรรมวิธีการผลิตข้าวอบกรอบจากแป้งข้าวเหนียว โดยการนวดแป้งโดกับแป้งสุกแล้วขึ้นรูป จากนั้นจึงนำไปอบด้วยไอน้ำ แล้วจึงนำมาอบแห้งด้วยอุณหภูมิ 80-85 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2.5-3.0 ชั่วโมง สุดท้ายจึงนำไปอบพอง กรรมวิธีนี้แตกต่างจากการผลิตเซมเบ้ที่ปรากฏในสิทธิบัตรบางฉบับ
3. การตลาด
โครงการดังกล่าวจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวไหมที่เป็นของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมผ้าไทยที่ปัจจุบันมีมูลค่า 70 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบจะมีมูลค่าประมาณ 330 บาทต่อกิโลกรัม และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เซมเบ้ (ข้าวอบกรอบ) จะมีมูลค่าประมาณ 450 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ตลาดของผลิตภัณฑ์ประเภทขนมขบเคี้ยวที่เป็นอาหารรองท้องมีมูลค่าตลาดในประเทศประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยข้าวเกรียบไหมฟ้า และเซมเบ้ไหมฟ้า จะวางจำหน่ายครั้งแรกในงาน INNOMAX วันที่ 19-22 พฤษภาคม 2551 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
4. ความร่วมมือ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมบนฐานความรู้และการสร้างเครือข่ายด้านวิชาการ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ในการพัฒนางานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ จึงเป็นที่มาของการถ่ายเทคโนโลยีการผลิต “ข้าวเกรียบไหมฟ้า และเซมเบ้ไหมฟ้า” ให้กับบริษัท บดินทร์ไหมไทย-โคราช จำกัด มาพัฒนาต่อยอดจากระดับห้องปฏิบัติการเป็นระดับโรงงานต้นแบบ และจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์
5. ทรัพย์สินทางปัญญาและการแบ่งปันผลประโยชน์
คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อยู่ระหว่างการดำเนินการจดสิทธิบัตร ซึ่งในการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวได้มีการเจรจาการจ่ายค่าตอบแทนในการเปิดเผยเทคโนโลยีเป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท ซึ่งบริษัท บดินทร์ไหมไทย-โคราช จำกัด เป็นผู้ใช้สิทธิได้แต่เพียงผู้เดียวเป็นเวลา 5 ปี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ