สถาบันอาหาร จับมือ ม.เกษตรศาสตร์ จัดโครงการ Pre-HACCP ลุยติวเข้มSME สู่ระบบผลิตอาหารปลอดภัย HACCPตามมาตรฐานสากล

ข่าวทั่วไป Wednesday June 4, 2008 11:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
ผู้อำนวยการสถาบันอาหารชี้ กระแสอาหารปลอดภัยมาแรง คนไทยมีความหวาดระแวงและตื่นตัวเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพจากอาหารไม่ปลอดภัยกันมากขึ้น พร้อมแนะผู้ประกอบการอาหารเร่งปรับตัว และพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตเข้าสู่ระบบมาตรฐานความปลอดภัย HACCP เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ขณะที่สถาบันอาหาร จับมือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำร่องโครงการ Pre-HACCP ติวเข้มผู้ประกอบการอาหาร SME เตรียมความพร้อมสู่ระบบมาตรฐานความปลอดภัย HACCP เผยตัวเลขผู้ประกอบอาหารระดับ SME ของไทยกว่า 9,000 โรงงาน ยังไม่มีระบบประกันคุณภาพความปลอดภัย HACCP
ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ในระยะหลังมีกระแสข่าวเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยของอาหารและผลกระทบต่อสุขภาพบ่อยมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันคนไทยมีการตื่นตัวเรื่องอาหารปลอดภัย (Food Safety) กันมากขึ้น โดยพบว่าปัญหาความไม่ปลอดภัยของอาหารส่วนใหญ่มักจะเกิดจากกระบวนการผลิตอาหารของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสารเคมีและสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนในอาหารเกินมาตรฐานทั้งแบบเจตนาและไม่เจตนา ซึ่งที่พบบ่อย ได้แก่ สารกันบูด เคมีสังเคราะห์ จุลินทรีย์ เป็นต้น
อาหารไม่ปลอดภัยเป็นผลสรุปสุดท้ายของกระบวนการผลิต ดังนั้น หากผู้ประกอบการอาหารของไทย ไม่สามารถสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ก็อาจจะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจโดยรวม โดยเฉพาะผู้ประกอบการอาหารระดับขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) ที่ยังไม่มีระบบมาตรฐานความปลอดภัยที่ดีพอ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ผู้ประกอบการอาหารของไทยจะต้องเร่งปรับตัว และพัฒนาศักยภาพเกี่ยวกับกระบวนการผลิตเข้าสู่กรอบการประกันความปลอดภัยอาหารภายใต้ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร (HACCP หรือ Hazard Analysis and Critical Control Point System) ซึ่งเป็นระบบประกันความปลอดภัยของอาหารที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมที่สุดตามมาตรฐานสากลสำหรับการผลิตอาหารของไทยในขณะนี้ เนื่องจาก HACCP มีระบบการจัดการ เพื่อความปลอดภัยของอาหาร โดยใช้การควบคุมจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (CCP) ของการผลิต โดยระบบดังกล่าวผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารสามารถนำไปปฏิบัติได้โดยตลอดห่วงโซ่อาหารตั้งแต่ผู้ผลิตเบื้องต้น จนถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้าย
ดร.ยุทธศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาอาหารไม่ปลอดภัยนับเป็นปัญหาและความรับผิดชอบของทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต รัฐ และประชาชน ที่จะต้องช่วยกัน ที่สำคัญปัจจุบันในประเทศไทยมีโรงงานผลิตอาหารที่ผ่านการตรวจประเมินและได้รับการรับรองระบบมาตรฐานความปลอดภัยHACCP น้อยกว่า 700 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่เพื่อการส่งออก ในขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมอาหารส่วนใหญ่อีกมากกว่า 9,000 โรงงาน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอาหารระดับขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ที่ทำการผลิตอาหารจำหน่ายแก่คนไทยทั้งประเทศ ส่วนใหญ่ยังไม่มีระบบประกันคุณภาพความปลอดภัย HACCP เนื่องจากผู้ประกอบการในระดับ SME ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถ่องแท้ในการผลิตอาหาร และขาดแรงจูงใจที่จะพัฒนาความปลอดภัยอาหารให้ดียิ่งขึ้น
สืบเนื่องจากปัญหาดังกล่าว ประกอบกับ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายจัดทำแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย เพื่อยกระดับและแก้ไขปัญหาในการผลิตอาหารให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพอย่างยั่งยืน ทางสถาบันอาหาร ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นว่า สิ่งที่อุตสาหกรรมอาหารของประเทศควรจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ การพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตอาหารในระดับ SME ให้สามารถพัฒนาตนเองเข้าสู่กรอบประกันความปลอดภัยอาหารภายใต้ระบบ HACCP โดยเร็ว
สถาบันอาหาร จึงได้มอบหมายให้ ศูนย์นวัตกรรมวิทยาการอาหารของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ (KU-FIRST) โดยสถาบันค้นคว้าและผลิตภัณฑ์อาหารและคณะอุตสาหกรรมเกษตร จัดทำ “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตอาหารอาหารระดับ SME เตรียมเข้าสู่ระบบมาตรฐานความปลอดภัย HACCP หรือ โครงการ Pre-HACCP” ซึ่งเป็นหลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับระบบการจัดการคุณภาพความปลอดภัย เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับการผลิตของผู้ประกอบ การอุตสาหกรรมอาหารระดับ SME ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยและมีคุณภาพที่ยั่งยืน โดยในช่วงแรกนี้ โครงการ Pre-HACCP จะนำร่องใน 600 โรงงานทั่วประเทศ”
“ผู้ประกอบการอาหารระดับ SME ของไทย ยังมีโอกาสเติบโตทางธุรกิจได้อีกมาก โดยเฉพาะตลาดส่งออก เพราะประเทศไทยเรามีชื่อเสียงเรื่องการผลิตอาหารคุณภาพอยู่แล้ว ดังนั้นหากได้รับการรับรองมาตรฐาน HACCP จะไปได้อีกไกล จึงอยากให้ผู้ประกอบการ SME มองเห็นความสำคัญของ HACCP และอยากเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการ Pre-HACCP เพราะจะช่วยเป็นบันไดก้าวไปสู่สู่มาตรฐาน HACCP ได้อย่างเต็มขั้นภายใน 2 ปี” ดร.ยุทธศักดิ์ กล่าว
ดร.วารุณี วารัญญานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ Pre-HACCP กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SME ที่เข้าร่วมโครงการ Pre-HACCP นี้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการเข้าร่วมฝึกอบรม และเป็นโครงการที่ให้ประโยชน์ทั้งในแง่ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยในแง่ของผู้ประกอบการ จะช่วยให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์อาหารได้อย่างถูกต้องปลอดภัยและยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจจาก
ผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นการเสริมศักยภาพสู่ตลาดส่งออกในอนาคตต่อไปด้วย โดยผู้ประกอบการ SME ที่สำเร็จหลักสูตรของโครงการฯแล้ว จะได้ได้รับเครื่องหมาย Pre-HACCP พร้อมโล่และเกียรติบัตรแสดงถึงการผลิตผลิตภัณฑ์สู่มาตรฐานความปลอดภัย แล้วยังเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงศักยภาพและความสามารถที่พัฒนาเข้าสู่ระบบ HACCP ได้ภายใน 2 ปี ซึ่งจะมีโอกาสได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากแหล่งทุนเช่น SME Bank เพื่อปรับปรุงโรงงานให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานคุณภาพความปลอดภัยของอาหารได้อีกด้วย
“ขณะเดียวกันในแง่ของผู้บริโภคเอง ก็จะสามารถเข้าถึงอาหารที่ผลิตในประเทศที่ปลอดภัยและมีคุณภาพจากโรงงานผลิตอาหารระดับ SME ดร.วารุณี กล่าวและเสริมว่า โครงการ “Pre-HACCP” ดำเนินการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ที่ว่าด้วยระบบการจัดการคุณภาพความปลอดภัยเตรียมความพร้อมสู่ระบบ HACCP ให้กับผู้ประกอบการและจะมีที่ปรึกษาให้การสนับสนุนทั้งในด้านวิชาการ รวมทั้งให้คำปรึกษาในฐานะพี่เลี้ยงทางวิชาการ ณ โรงงานผลิต หรือ “on-site consultation” แก่อุตสาหกรรมระดับ SME โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาศักยภาพของบุคคลากรผู้ที่เกี่ยวข้องการผลิตอาหารให้เข้าใจ และสามารถประยุกต์ทฤษฏีลงสู่การปฏิบัติจริงได้ เพื่อให้โรงงานผลิตอาหารระดับ SME 600 โรงงานที่เข้าร่วมโครงการฯ พร้อมที่จะสามารถพัฒนาตนเองเข้าสู่ระบบ HACCP ได้ภายใน 2 ปี
อ.ชิดชม ฮิรางะ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร กล่าวถึงรายละเอียดหลัก
สูตร Pre-HACCP ว่า เป็นหลักสูตรการฝึกอบรมที่ได้รับการเห็นชอบจากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบด้วยหลักสูตร กลาง และหลักสูตรเฉพาะอาหาร 6 กลุ่ม โดยหลักสูตรกลาง ประกอบด้วย หลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหารมาตรฐานการจัดการสุขาภิบาลอาหาร และระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม ส่วนหลักสูตรเฉพาะอาหาร 6 กลุ่ม จะประกอบไปด้วย กรรมวิธีการผลิตอาหาร 6 กลุ่มที่ถูกต้องและปลอดภัย ระบบวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมของอาหาร 6 กลุ่ม ซึ่งอาหาร 6 กลุ่มนี้ประกอบด้วย อาหารบรรจุในภาชนะปิดสนิท (ชนิดกรดต่ำ ชนิดปรับกรด และชนิดกรด) อาหารแห้งและกึ่งแห้ง อาหารหมัก อาหารแช่เย็นเครื่องดื่ม และเครื่องปรุงรส
ทั้งนี้โครงการ Pre-HACCP เปิดการอบรมนำร่องมาแล้ว 4 รุ่น ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SME เป็นจำนวนมาก และจะเปิดอบรมอีก 2 รุ่นสุดท้ายที่กรุงเทพ ฯ คือ ระหว่างวันที่ 10-13 มิถุนายน 2551 นี้ และในเดือนกรกฎาคม 2551 อีก 1 รุ่น ในขณะเดียวกันจะเปิดอบรมที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดสงขลา จึงนับเป็นโอกาสสุดท้ายสำหรับผู้ประกอบการ สามารถสมัครโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.0-2942-7990-1 หรือ 0-2942-8629-35 ต่อ 307 หรือ E-mail:Ku-first@ku.ac.th
ข้อมูลเพิ่มเติมโครงการ Pre-HACCP
โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตอาหารระดับ SME เตรียมเข้าสู่ระบบมาตรฐานความปลอดภัย HACCP (Pre-HACCP)
โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตอาหารระดับ SME เตรียมเข้าสู่ระบบ HACCP จัดทำขึ้นโดยสถาบันอาหาร ร่วมกับ ศูนย์นวัตกรรมวิทยาการอาหารของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU-FIRST) เป็นแผนงานเพื่อนำผู้ประกอบการ SME เข้าสู่มาตรฐาน HACCP
โครงการฯ มีเป้าประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับการผลิตของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม SME ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้ได้มาตรฐานและผลิตอาหารให้มีคุณภาพและปลอดภัยได้อย่างยั่งยืนให้ความรู้ความเข้าใจ เพื่อผู้ประกอบการสามารถนำไปประยุกต์ใช้ และจัดการระบบการควบคุมคุณภาพความปลอดภัยของการผลิตอาหารอย่างมีประสิทธิภาพผู้ประกอบการที่ผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพ โดยเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร Pre-HACCP จะได้รับการรับรองจากสถาบันอาหารในรูปแบบของเครื่องหมาย Pre-HACCP และสามารถพัฒนาเข้าสู่ระบบ HACCP ได้ภายใน 2 ปี
HACCP คืออะไร
Hazard Analysis Critical Control Point (HACCP: เอช-เอ-ซี-ซี-พี หรือ “ฮาสัพ”) เป็นระบบมาตรฐานการประกันความปลอดภัยอาหาร มีหลักการสำคัญ คือ
- แยกประเภทของอันตรายที่อาจปนเปื้อนในวัตถุดิบอาหาร
- ควบคุมอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการผลิตอาหาร
- ตรวจสอบติดตามและบันทึกกระบวนการผลิตอาหาร หากมีข้อผิดพลาดจากมาตรการที่กำหนดไว้สามารถแก้ไขได้ทันที
ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ จึงมีความปลอดภัยและได้คุณภาพสอดคล้องตามที่โรงงานผู้ผลิตกำหนด
หลักสูตร Pre-HACCP
หลักสูตร Pre-HACCP เป็นหลักสูตรระบบการจัดการคุณภาพความปลอดภัยสำหรับ SME เพื่อเตรียมพร้อมสู่ระบบ HACCP โดยเป็นหลักสูตรการฝึกอบรมที่ได้รับการเห็นชอบจากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย หลักสูตรกลาง และ หลักสูตรเฉพาะอาหาร 6 กลุ่ม
หลักสูตรกลาง ประกอบด้วย หลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร มาตรฐานการจัดการสุขาภิบาลอาหาร และระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม
หลักสูตรเฉพาะอาหาร 6 กลุ่ม ประกอบด้วย กรรมวิธีการผลิตอาหาร 6 กลุ่มที่ถูกต้องและปลอดภัย ระบบวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมของอาหาร 6 กลุ่ม ซึ่งอาหาร 6 กลุ่มนี้ประกอบด้วย 1.) อาหารแห้งและกึ่งแห้ง 2.) อาหารหมัก 3.) อาหารแช่เย็น 4.) เครื่องดื่ม 5.) เครื่องปรุงรส และ 6.) อาหารบรรจุในภาชนะปิดสนิท (ชนิดกรดต่ำ ชนิดปรับกรด และชนิดกรด)
Pre-HACCP บันไดสู่ HACCP แบบเต็มขั้น
การฝึกอบรมในหลักสูตร Pre-HACCP จะเน้นให้สามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้และปฏิบัติได้จริงในโรงงาน ซึ่งผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมตลอดระยะเวลา 4 วัน จะได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับทีมวิทยากรและผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจากโรงงานอื่นๆ เป็นการสร้างเครือข่ายทั้งด้านวิชากการและด้านธุรกิจแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน หรือหากเป็นผู้บริหาร หรือเจ้าของธุรกิจ เมื่อมาฝึกอบรมก็จะทำให้เห็นภาพถึงความจำเป็นและความสำคัญของมาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัยชัดเจนยิ่งขึ้น นำไปสู่การสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายด้านคุณภาพต่างๆ ภายในโรงงานได้อย่างเป็นรูปธรรม
และหลังจากที่ผ่านการฝึกอบรมตลอด 4 วันแล้ว ทีมผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาของโครงการฯ จะเข้าไปให้คำแนะนำที่โรงงานอย่างน้อย 3 ครั้ง โดยครั้งแรกจะเป็นการให้คำแนะนำตามหลัก GMP เบื้องต้น ครั้งที่ 2 เป็นการให้คำแนะนำเกี่ยวกับแผนงาน HACCP ครั้งที่ 3 เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อทำการตรวจประเมินเบื้องต้น (Pre-audit) และครั้งที่ 4 จะมีผู้ตรวจประเมินจากภาคีเครือข่ายอื่นๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข เข้าไปตรวจประเมินที่โรงงาน
คุณสมบัติของโรงงานที่เข้าร่วมโครงการ
- โรงงานผลิตอาหารขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพเตรียมเข้าสู่ระบบ HACCP และสามารถเข้าร่วมกิจกรรมจนเสร็จสิ้นโครงการ
- ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรืออยู่ในระหว่างการยื่นขอรับรองมาตรฐาน GMP
- โรงงานมีบุคลากรที่มีคุณสมบัติ มีประสบการณ์ด้านการผลิตอาหาร สามารถร่วมงานกับคณะทีมผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษา HACCP
- โรงงานตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และ ภาคใต้ ของประเทศ
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
- เป็นบุคลากรของโรงงานที่เข้าร่วมโครงการฯ
- จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง
- กรณีวุฒิการศึกษาไม่ถึงระดับปริญญาตรี ต้องมีประสบการณ์ด้านการผลิตอาหารไม่น้อยกว่า 1 ปี
ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการ SME จะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ Pre-HACCP
- บุคลากรของโรงงานที่ผ่านการอบรมได้รับการพัฒนาศักยภาพและมีความสามารถที่จะพัฒนากระบวนการผลิตของโรงงานเข้าสู่ระบบ HACCP
- บุคลากรของโรงงานที่ผ่านการฝึกอบรม ได้รับประกาศณียบัตรจากโครงการฯ
- โรงงานที่เข้าร่วมกระบวนการพัฒนาศักยภาพและผ่านการประเมินจะได้รับเครื่องหมาย Pre-HACCP อันเป็นเครื่องหมายแสดงถึงศักยภาพและความสามารถที่พัฒนาเข้าสู่ระบบ HACCP ได้ภายใน 2 ปี และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในคุณภาพความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์
- โรงงานที่ได้รับเครื่องหมาย Pre-HACCP มีโอกาสได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากแหล่งทุนเช่น SME Bank เพื่อปรับปรุงโรงงานให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานคุณภาพความปลอดภัยของอาหาร
- ทางโครงการฯ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเข้าฝึกอบรมให้แก่ โรงงานมีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการฯ (ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าลงทะเบียน และอื่นๆ โดยระบบเหมาจ่าย)
เครื่องหมาย Pre-HACCP มีหลักเกณฑ์อย่างไร
- เครื่องหมายประกันคุณภาพว่าโรงงานผลิตอาหารนั้นมีศักยภาพพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบ HACCP รับรองโดยคณะกรรมการโครงการฯ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับรอง GMP และระบบ HACCP
- มีอายุใช้ได้ 2 ปี นับตั้งแต่ได้รับมอบจากโครงการฯ มีพันธะสัญญาว่าจะดำเนินการให้ได้การรับรองระบบ HACCP ใน 1-2 ปี
การรับสมัคร
โครงการ Pre-HACCP เปิดการอบรมนำร่องมาแล้ว 4 รุ่น ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SME เป็นจำนวนมาก และจะเปิดอบรมอีก 2 รุ่นสุดท้ายที่กรุงเทพ ฯ คือ ระหว่างวันที่ 10-13 มิถุนายน 2551 นี้ และในเดือนกรกฎาคม 2551 อีก 1 รุ่น ในขณะเดียวกันจะเปิดอบรมที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดสงขลา จึงนับเป็นโอกาสสุดท้ายสำหรับผู้ประกอบการ สามารถสมัครโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.02 942 7990-1 หรือ 02 942 8629-35 ต่อ 307 หรือ E-mail: Ku-first@ku.ac.th
สถานที่รับสมัคร
โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตอาหารระดับ SME เตรียมเข้าสู่ระบบ HACCP
ศูนย์นวัตกรรมวิทยาการอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU-FIRST)
อาคารอบรมภูมิรัตน ห้อง 322 ชั้น 3
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
50 ถ.พหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทร. 02 942 7990-1 หรือ 02 942 8629-35 ต่อ 307
E-mail: Ku-first@ku.ac.th
สื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์ จำกัด
คุณบุษบา สุขบัติ (บุษ) โทร. 0-2718-3800-5 ต่อ 133 หรือ 081-483-7336 / 085-803-6222

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ