เทเลนอร์เผยผลการศึกษาพบการสื่อสารแบบเคลื่อนที่ช่วยสร้างเม็ดเงินกว่า 393,000 ล้านบาทให้กับเศรษฐกิจไทย

ข่าวเทคโนโลยี Thursday June 5, 2008 10:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน
เทเลนอร์เผยผลการศึกษาพบการสื่อสารแบบเคลื่อนที่ช่วยสร้างเม็ดเงินกว่า 393,000 ล้านบาทให้กับเศรษฐกิจไทย จากการศึกษาทั่วโลกพบว่า การสื่อสารโทรคมนาคมมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ
การสื่อสารแบบเคลื่อนที่เป็นพื้นฐานแห่งการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 393,000 ล้านบาท (1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จากมูลค่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในปี พ.ศ. 2550 หรือเทียบเท่ากับจีดีพีร้อยละ 4.9 ของประเทศไทย ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานถึง 150,000 ตำแหน่ง
ตัวเลขเหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญที่ได้จากการศึกษาครั้งล่าสุดโดยดีล้อยท์ซึ่งจัดทำให้แก่เทเลนอร์กรุ๊ปในตลาดเกิดใหม่หกประเทศด้วยกัน ได้แก่ เซอร์เบีย ยูเครน บังคลาเทศ มาเลเซีย ปากีสถาน และประเทศไทย รายงานฉบับนี้อาศัยฐานข้อมูลจากหน่วยธุรกิจต่างๆ ของเทเลนอร์และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ในวงกว้าง รวมถึงอ้างอิงจากข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ
มร. อาร์เว โจแฮนเซน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารเทเลนอร์กรุ๊ปและหัวหน้าส่วนงานทวีปเอเชีย กล่าวว่า “ผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การสื่อสารโทรคมนาคมนั้นเป็นปัจจัยที่เชื่อมโยงกับความสำเร็จด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เราหวังว่าผลการศึกษาครั้งนี้จะช่วยย้ำความสำคัญของเทคโนโลยีการสื่อสารเคลื่อนที่ที่มีต่อการพัฒนาสภาพสังคมและสภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้”
ผลจากการศึกษาในหกประเทศพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ธุรกิจการสื่อสารแบบเคลื่อนที่มีผลทางเศรษฐกิจมากที่สุด โดยการสื่อสารแบบเคลื่อนที่คิดเป็นมูลค่าถึง 393,000 ล้านบาท (1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ของการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2550 ในขณะที่ยูเครนมีมูลค่าอยู่ที่ 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมาเลเซีย 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยิ่งไปกว่านั้น การสื่อสารแบบเคลื่อนที่ยังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจ 393,000 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2550 นั้นมากกว่าเกือบหนึ่งเท่าครึ่งเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2547 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 160,000 ล้านบาท
การศึกษาครั้งนี้ยังชี้ชัดว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การสื่อสารแบบเคลื่อนที่มีความสำคัญมากขึ้นนั้น สืบเนื่องมาจากอัตราการขยายตัวของการสื่อสารแบบเคลื่อนที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยอัตราการขยายตัวในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 75 และภายในสิ้นปี พ.ศ. 2551 คาดว่าอัตราการขยายตัวจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของอัตราเฉลี่ยของภูมิภาค ทั้งนี้ เป็นเพราะราคาค่าบริการต่อนาทีที่ต่ำลง ซึ่งราคานี้ได้ลดลงมากกว่าร้อยละ 70 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่าการสื่อสารแบบเคลื่อนที่ได้มีบทบาทช่วยผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจในรูปแบบอื่นๆ ได้แก่ การเพิ่มอัตราการจ้างงาน การสร้างสาธารณูปโภคที่ช่วยให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น และการเป็นแกนหลักของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) “การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมช่วยเพิ่มความมั่นใจแก่นักลงทุนในภาคเศรษฐกิจอื่นและยังเพิ่มเอฟดีไออีกด้วย” มร. อาร์เว โจแฮนเซน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์กรุ๊ปและหัวหน้าส่วนงานทวีปเอเชีย กล่าว
อีกด้านหนึ่งที่การสื่อสารแบบเคลื่อนที่มีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจคือ ในแง่ของการปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพ ซึ่งในทั้งหกตลาดที่มีการศึกษาพบว่า การเข้าถึงการสื่อสารแบบเคลื่อนที่สามารถพัฒนาการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร เพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน และส่งเสริมธุรกิจในพื้นที่ชนบทซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับบริการไม่เพียงพอ
ดร. มั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า “การศึกษาในครั้งนี้ช่วยชี้วัดถึงผลกระทบของเทคโนโลยีซึ่งถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ผลการศึกษายืนยันให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ หากลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีโดยเพิ่มการใช้งานและพัฒนาระบบการสื่อสารผ่านเครือข่ายแบบเคลื่อนที่ของประเทศ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีโครงสร้างการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน อันจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่องในระยะยาวในภาคอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ”
ด้าน ดร. คริส วิลเลียมส์ หุ้นส่วนทางด้านการสื่อสารโทรคมนาคมที่ดีล้อยท์ กล่าว “ในขณะที่เศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่กำลังพัฒนาไปข้างหน้านั้น ความต้องการในโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการสื่อสารที่ก้าวหน้าก็มีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับเช่นกัน ก้าวที่สำคัญต่อไปคือการมอบบริการบรอดแบรนด์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งบริการนี้น่าจะทำให้อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจยิ่งขึ้นไปอีก”
การศึกษาครั้งนี้ยังได้ชี้ให้เห็นประโยชน์ทางอ้อมอื่นๆ ที่ผู้บริโภคในประเทศไทยได้รับจากการขยายตัวของการสื่อสารแบบเคลื่อนที่ ตัวอย่าง อาทิ ความสัมพันธ์ในสังคมที่เพิ่มขึ้นด้วยการอำนวยความสะดวกให้ครอบครัวและเพื่อนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น การช่วยบรรเทาสาธารณภัย โดยช่วยให้ประชาชนสามารถติดต่อศูนย์ให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน และยังช่วยให้ผู้ปกครองสบายใจ โดยสามารถติดต่อกับบุตรหลานได้อยู่เสมอ
เทเลนอร์
เทเลนอร์ คือ หนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในโลกและหนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการการสื่อสารเคลื่อนที่ทั่วโลกซึ่งเติบโตเร็วที่สุด และเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการทีวี บรอดแบนด์ และโทรศัพท์รายใหญ่ที่สุดในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย
เทเลนอร์ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดและก้าวหน้าที่สุดในโลก บริษัทให้บริการในกว่า 12 ประเทศโดยมีลูกค้ารวม 143 ล้านราย ในเอเชีย เทเลนอร์ให้บริการในนาม ดิจิ (มาเลเซีย) ดีแทค (ไทย) แกรมีนโฟน (บังคลาเทศ) และเทเลนอร์ปากีสถาน
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเข้าชม www.telenor.com
ผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากการสื่อสารแบบเคลื่อนที่
ผลการสำรวจโดยย่อ
ผู้ลงทะเบียนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มีจำนวนกว่า 49 ล้านคนในประเทศไทย ซึ่งคิดเป็นอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 75
คาดการณ์ว่าจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2551 อัตราการขยายตัวในประเทศไทยจะมีมากกว่าอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยของทั้งภูมิภาคถึงสองเท่า
ปริมาณการเชื่อมต่อโทรศัพท์เคลื่อนที่มีมากกว่าการเชื่อมต่อโทรศัพท์พื้นฐานถึง 7:1 เท่า เนื่องด้วยผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (เอ็มเอ็นโอ) ล้วนทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการระบบระดับสากลอย่างมีประสิทธิภาพ
สถิติ 1: อัตราการขยายตัวของโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
แหล่งที่มา: Wireless Intelligence. ตัวเลขตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี พ.ศ. 2550 เป็นตัวเลขจากการคาดคะเน
การแข่งขันกันอย่างสูงด้านราคาในตลาดทำให้ค่าบริการต่อนาทีลดลงกว่าร้อยละ 70 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ทั้งราคาที่ต่ำลงซึ่งทำให้ผู้ใช้เข้าถึงบริการได้มากขึ้น และการขยายฐานการบริการไปสู่ชนบท ล้วนเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของการขยายตลาด
อุตสาหกรรมการสื่อสารแบบเคลื่อนที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
การเพิ่มอัตราการจ้างงานและการส่งเสริมค่าจีดีพี การสื่อสารแบบเคลื่อนที่คิดเป็นร้อยละ 4.9 ของค่าจีดีพีในประเทศไทย และทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 150,000 ตำแหน่ง
การสร้างสาธารณูปโภคเพื่อให้เศรษฐกิจพัฒนา การขยายตัวของโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จะช่วยให้อัตราการโตของค่าจีดีพีในระยะยาวอยู่ที่ร้อยละ 1.2
นับเป็นแหล่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ที่สำคัญ ซึ่งมีส่วนในค่าจีดีพีของประเทศไทยถึงร้อยละ 20
ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการติดต่อสื่อสารได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในแง่การสื่อสารทางเสียง บรอดแบนด์ หรืออินเตอร์เน็ต อย่างที่สาธารณูปโภคของโทรศัพท์แบบพื้นฐานไม่สามารถทำได้ เช่นนี้ จึงช่วยให้ผู้บริโภคในพื้นที่ห่างไกลและกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยมีงานทำและมีโอกาสทางธุรกิจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
สถิติ 2: การจ้างงานในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารแบบเคลื่อนที่
2547 2548 2549 2550
สายงานตรง 10,000 12,000 14,000 15,000
ทางอ้อม (อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง) 85,000 85,000 87,000 100,000
ผลกระทบทวีคูณ 29,000 29,000 30,000 35,000
การจ้างงานทั้งหมด 124,000 126,000 131,000 150,000
แหล่งที่มา: การวิเคราะห์ของดีล้อยท์มาจากข้อมูลการสัมภาษณ์ผู้นำในอุตสาหกรรม และการวิเคราะห์จากข้อมูลของบริษัทฯ รายงานของอุตสาหกรรม และสถิติที่มาจากดีแทค
การสื่อสารแบบเคลื่อนที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของพนักงานในหน่วยงานต่างๆ ทั้งในพื้นที่ห่างไกลและในตัวเมือง หากชี้เฉพาะลงไป การเข้าถึงการสื่อสารแบบเคลื่อนที่สามารถ:
พัฒนากระแสข้อมูลภายในบริษัทและระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย
เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน
ช่วยพัฒนาธุรกิจในพื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ห่างไกล
การใช้การสื่อสารแบบเคลื่อนที่ในเชิงธุรกิจจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่พนักงานแต่ละคนถึงร้อยละ 6 โดยเฉลี่ย
เราคาดการณ์ว่า แค่ในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพียงอย่างเดียว การสื่อสารแบบเคลื่อนที่ช่วยเพิ่มจีดีพีถึง 6.9 หมื่นล้านบาท ในปี พ.ศ. 2550 (คิดเป็นร้อยละ 1 ของจีดีพี) ขณะที่เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างไกลขึ้น พนักงานจำนวนมากสามารถใช้โทรศัพท์ เคลื่อนที่เพื่อทำธุรกิจเพิ่มขึ้น และทำให้ผลกระทบของประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
สถิติ 3: ผลกระทบของประสิทธิภาพการทำงานจากการสื่อสารแบบเคลื่อนที่
แหล่งที่มา: การวิเคราะห์ของดีล้อยท์มาจากข้อมูลการสัมภาษณ์ผู้นำในอุตสาหกรรม และการวิเคราะห์จากข้อมูลของบริษัทฯ รายงานของอุตสาหกรรม และสถิติที่มาจากดีแทค
ประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับคือประโยชน์จากการสื่อสารแบบเคลื่อนที่ที่ผู้ลงทะเบียนใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้รับ
การสื่อสารระหว่างบุคคลและครอบครัวที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารระหว่างในเมืองและในเขตพื้นที่ห่างไกล
การส่งเสริมเอกภาพทางสังคม
การขยายการติดต่อสื่อสารไปสู่ผู้ที่มีรายได้น้อย
สำหรับผู้ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อที่
Esben Tuman, Communications Director, Telenor Asia
Phone: +66 85 918 4111, e-mail: esben@telenor.com
วีรนุช พุทธชาติเสวี บริษัท ฮิลล์แอนด์นอลตัน ประเทศไทย
โทร. 0 2627 3501 ต่อ 101 อีเมล์ wputtachartsaewee@th.hillandknowlton.com

แท็ก คมนาคม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ