กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง
บีเอสเอร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ จัดกิจกรรมสนับสนุนนโยบายการบริหารสินทรัพย์ซอฟต์แวร์เชิญองค์กรธุรกิจร่วมโครงการจัดระเบียบซอฟต์แวร์
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ร่วมจัดกิจกรรมสนับสนุนนโยบายการบริหารสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ ภายใต้ชื่อกิจกรรม “บริหารสินทรัพย์ จัดระเบียบซอฟต์แวร์” “Get SAM Get Compliant” พร้อมให้คำปรึกษาแก่บริษัทฯ ที่ต้องการบริหารสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ และมอบรางวัลบริษัทฯ ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นบริษัทฯ ตัวอย่างในการบริหารซอฟต์แวร์อย่างถูกต้อง
นายชัยยุทธ์ ชำนาญเลิศกิจ รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ กล่าวว่า “ตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ยินดีให้ความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ ในการจัดกิจกรรมให้ความรู้ความเข้าใจในการนำหลักการบริหารสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กร เพื่อเน้นด้านการลงทุนที่คุ้มค่า และยังเป็นการป้องกันหรือลดปัญหาการล่วงละเมิดทรัพย์สินหรือลิขสิทธิ์ทางปัญญาได้เป็นอย่างดี ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนและบริษัทสมาชิก ปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีอันจะเป็นแบบอย่างให้แก่ธุรกิจภาคเอกชนในการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ อย่างถูกต้อง โดยหวังว่าสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากกิจกรรมดังกล่าวนี้ โดยปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ร่วมงานกับบีเอสเอ”
กิจกรรมการสัมมนาในหัวข้อการบริหารสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ที่จัดให้กับบริษัทจดทะเบียนและบริษัทสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ จะจัดขึ้นในวันที่ 26 พฤษภาคม 2548 เวลา 9.00 — 12.00 น. ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยได้เชิญวิทยากรที่มีความชำนาญและประสบการณ์ จากต่างประเทศมาให้ความรู้ด้านการบริหารสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ และการรักษาความปลอดภัยของระบบข้อมูลต่างๆ มากไปกว่านั้น ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ได้รับความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่พร้อมยืนยันการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น บีเอสเอยังร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในการให้ความรู้แก่องค์กรธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ และความเสี่ยงต่อการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีใบอนุญาตใช้สิทธิ์ และสำหรับองค์กรธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ นี้ จะสามารถเข้าร่วมโครงการจัดระเบียบซอฟต์แวร์ โดยการตอบแบบสอบถามและทำการตรวจสอบรายการใช้ซอฟต์แวร์ในองค์กร
นายบุญนริศร์ สุวรรณพูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้การสนับสนุนที่จะกระตุ้นให้มีการใช้หลักการบริหารสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ภายในองค์กรธุรกิจ ความร่วมมือระหว่างกรมฯ และ บีเอสเอนับเป็นความพยายามที่ต่อเนื่องเพื่อสร้างให้สังคมและภาคธุรกิจได้เข้าใจถึงความสำคัญของซอฟต์แวร์ในฐานะสินทรัพย์และกลไกที่สร้างให้เกิดประสิทธิผลและรายได้ โครงการ Get SAM Get Compliant ซึ่งนอกจากจะเน้นถึงความสำคัญของหลักการบริหารสินทรัพย์ซอฟต์แวร์แล้ว ยังเปิดโอกาสให้องค์กรที่เข้าร่วมได้ลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบตัวเองว่าปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ ซึ่งจะได้รับเวลาในการตรวจสอบโดยปราศจากการปราบปราม และหลังจากที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว จะได้รับ SAM Award เป็นรางวัล”
มร.โรแลน ชาน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดภูมิภาคเอเชีย กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ประจำ กล่าวว่า “กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) เป็นองค์กรกลางที่ให้ความสำคัญยิ่งในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา และริเริ่มการจัดกิจกรรมหลากหลาย ที่สอดคล้องกับหลักการบริหารสินทรัพย์ซอฟต์แวร์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ทั้งภาครัฐและอุตสาหกรรมทราบถึงความสำคัญของหลักการดังกล่าว ทั้งนี้ การจัดระเบียบการบริหารสินทรัพย์ซอฟต์แวร์จะทำให้องค์กรธุรกิจสามารถบริหารค่าใช้จ่ายทางด้านระบบสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพต่อธุรกิจได้อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงสามารถกำหนดความปลอดภัยต่อการระบบได้ระดับหนึ่ง เพราะการบริหารซอฟต์แวร์และการตรวจสอบจะทำให้เราทราบว่ามีซอฟต์แวร์แปลกปลอมเข้ามาอยู่ในระบบหรือไม่ รวมถึงการกำหนดนโยบายไม่ให้มีการโหลดซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับอนุญาต และการบริหารสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ยังสามารถช่วยให้ท่านกำหนดงบประมาณสำหรับซอฟต์แวร์ได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย”
“กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) ต้องขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งต่อการให้ความร่วมมืออย่างเสมอมาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในการสนับสนุนการดำเนินการจัดกิจกรรมให้ความรู้ในการบริหารสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ และนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ซึ่งเราหวังว่าจะสามารถขยายความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดี และประโยชน์ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากภาครัฐและภาคเอกชน การปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังช่วยสร้างงาน และทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษี ซึ่งนับเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” มร.ชาน กล่าวสรุป
เกี่ยวกับบีเอสเอ
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (www.bsa.org) คือองค์กรที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนโลกดิจิตอลที่มีความปลอดภัยและถูกกฎหมาย บีเอสเอคือกระบอกเสียงของกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ทั่วโลก รวมถึงกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ สมาชิกบีเอสเอคือตัวแทนของการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเร็วที่สุดในโลก โครงการต่างๆของบีเอสเอล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์เทคโนโลยีผ่านภาคการศึกษาและนโยบายที่สนับสนุนการปกป้องลิขสิทธิ์, ไซเบอร์ซีเคียวริตี้, การค้า และอีคอมเมิร์ซ สมาชิกกลุ่มบีเอสเอประกอบด้วย อะโดบี (Adobe), แอปเปิล (Apple), ออโต้เดสก์ (Autodesk), เอวิด (Avid), เบนต์เลย์ซิสเต็มส์ (Bentley Systems), บอร์แลนด์ (Borland), คาเดนซ์ดีไซน์ซิสเต็มส์ (Cadence Design Systems), ซิสโก้ซิสเต็มส์ (Cisco Systems), ซีเอ็นซีซอฟต์แวร์มาสเตอร์แคม (CNC Software/Mastercam), เดลล์ (Dell), เอ็นทรัสต์ (Entrust), เอชพี (HP), ไอบีเอ็ม (IBM), อินเทล (Intel), อินเทอร์เน็ตซีเคียวริตี้ซิสเต็มส์ (Internet Security Systems), แมโครมีเดีย (Macromedia), แมคอะฟี (McAfee), ไมโครซอฟท์ (Microsoft), มินิแท็บ (Minitab), พีทีซี (PTC), อาร์เอสเอซีเคียวริตี้ (RSA Security), แซ็ป (SAP), โซลิดเวิร์คส (SolidWorks), ไซเบส (Sybase), ไซแมนเทค (Symantec), เทรนด์ไมโคร (Trend Micro), ยูจีเอส (UGS) และเวอริทัสซอฟต์แวร์ (VERITAS Software)
ขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
คุณปราณี เฉลิมธนศักดิ์
บริษัทพีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง จำกัด
อีเมล์ pranee@pc-a.co.th โทรศัพท์ 0 2971 3711--จบ--