WHO ระบุโรคปอดบวมในเด็กเล็กยังน่าห่วง แถลงการณ์ย้ำทั่วโลก เร่งมาตรการป้องกัน แนะให้วัคซีนไอพีดีในเด็กเล็กทุกคน

ข่าวทั่วไป Thursday June 5, 2008 16:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
องค์การอนามัยโลก (WHO) วอนผ่านแถลงการณ์ประจำเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เน้นย้ำให้ทุกประเทศทั่วโลกผนึกกำลังป้องกัน และควบคุมอุบัติการณ์โรคปอดบวมในเด็กอย่างจริงจัง และเร่งด่วน เนื่องจากโรคปอดบวมยังคงครองแชมป์มฤตยูร้ายที่คร่าชีวิตเด็กๆ กว่าปีละ 2 ล้านคนต่อเนื่องมาทุกปี ซึ่งถือว่าก่อให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่ายิ่งของโลก ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดอัตรการตายของเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลก ลงให้ได้ 2 ใน 3 ในระหว่างปี 1990-2015 เน้นจุดยืนให้ทุกประเทศฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (วัคซีนไอพีดี) ช่วยลดโรคปอดบวมในเด็กเล็กที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัสซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญลงได้
แถลงการณ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำเดือนพฤษภาคม 2008 ที่ผ่านมา ซึ่งนำโดยองค์กรวางแผนการป้องกันและควบคุมโรคปอดบวมแห่งโลก (The Global Action Plan for the Prevention and Control of Pneumonia -- GAPP) พุ่งเป้าไปที่ความสำคัญของการป้องกัน ควบคุม ตลอดจนลดอุบัติการณ์โรคปอดบวมในเด็กเล็ก เนื่องจากโรคปอดบวมถือได้ว่าเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลกกว่า 2 ล้านคนทุกปี ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่สำคัญเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส โดยทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชียเป็นสองภูมิภาคที่มีอัตราการตายจากโรคปอดบวมสูงที่สุด จึงทำให้ทั้งสองทวีปนี้จำเป็นต้องได้รับการอย่างจริงจัง และเร่งด่วน นอกจากนี้แถลงการณ์ฉบับนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงผลการศึกษาวิจัยในหลายๆ ด้านที่แสดงให้เห็นถึงความร้ายแรงและอันตรายของโรคปอดบวมซึ่งจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่และควบคุมอย่างจริงจัง
เด็กเล็กที่จัดว่ามีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ในเด็กที่มีภาวะ ทุพโภนาการ เด็กที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำ หรือเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น อาทิเช่น การอาศัยในบ้านที่แออัด หรือการต้องเผชิญกับมลภาวะภายในบ้าน ก็ส่งผลให้เด็กมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้นเช่นกัน อีกทั้งปอดบวมยังเป็นภาระโรคที่สำคัญต่อครอบครัว ระบบสุขภาพ และกระบวนการจัดการต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพทั้งในแง่ของการป้องกันและการดูแลรักษา
ในแถลงการณ์ฉบับนี้ ได้ระบุว่า ตัวชี้วัดในการป้องกันโรคปอดบวมที่ WHO เน้นเป็นพิเศษมีหลายปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันพื้นฐานให้แก่ทารก การสนับสนุนให้ทารกได้ดื่มนมมารดาในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังคลอด การเสริมธาตุสังกะสีให้แก่ทารก การควบคุมมลภาวะภายในที่อยู่อาศัย การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก การป้องกันโรคปอดบวมในพื้นที่ที่มีผู้ป่วยเอชไอวี (HIV) และแม้ว่าการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (วัคซีนไอพีดี) และการดูแลจัดการผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพ จะได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีในการป้องกันโรคปอดบวม แต่อย่างไรก็ตาม เพียงแค่ลำพังทั้งสองตัวนี้คงยังไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรคปอดบวมในเด็กได้ทั้งหมด เนื่องจากยังคงมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่มีผลต่อการเกิดโรคปอดบวม ในส่วนของการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคปอดบวม แม้ว่าการให้ยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพและทันท่วงทีจะประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีแต่ก็ยังจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญทั้งในด้านการวินิจฉัยและการรักษา ตลอดจนครอบครัวของผู้ป่วยที่ต้องคอยให้การเฝ้าระวังและดูแลสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
แถลงการณ์ของ WHO ประจำเดือนพฤษภาคม 2551 ฉบับนี้ สอดคล้องกับแถลงการณ์ของ WHO เมื่อเดือนเมษายน 2550 ที่ผ่านมา ที่ได้ประกาศจุดยืนในการให้ความสำคัญต่อการป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหมายรวมถึงโรคปอดบวม และปอดอักเสบรุนแรง เนื่องจากเชื้อนิวโมคอคคัสนับเป็นสาเหตุสำคัญของโรคดังกล่าว และเป็นต้นเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลกกว่า 2 ล้านคนต่อปี โดย WHO ได้ขอความร่วมมือให้แต่ละประเทศพิจารณาอนุมัติบรรจุวัคซีนดังกล่าวให้เป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กเล็ก ซึ่งปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนไอพีดีให้เด็กเล็กใน 76 ประเทศทั่วโลก (ตั้งแต่มกราคม 2550) และใน 17 ประเทศได้ระบุให้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสอยู่ในแผนสาธารณสุขแห่งชาติ โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีเพียงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เท่านั้นที่บรรจุวัคซีนไอพีดีให้เป็นวัคซีนพื้นฐาน
องค์การอนามัยโลกกำชับทิ้งท้ายว่า ถ้าหน่วยงานหรือองค์กรทางการแพทย์ ผู้วางแผนนโยบาย ตลอดจนสาธารณชน ต่างหันมาให้ความสำคัญ และร่วมมือกันนับตั้งแต่บัดนี้ เราก็จะสามารถป้องกันการตายที่เกิดขึ้นทั่วโลกกว่าล้านชีวิตได้ แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันจากหลายๆ ฝ่าย ตลอดจนแหล่งเงินทุน และการสร้างเสริมการป้องกันโรคปอดบวมในเด็กเล็กที่มีประสิทธิภาพเพียงพอดังที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น จึงจะสามารถลดอุบัติการณ์การเกิดโรคปอดบวมในเด็กเล็กได้อย่างเป็นรูปธรรม
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
บุษบา (บุษ), พิธิมา (ก้อย)
โทร. 0-2718-3800 ต่อ 133 / 138

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ