มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 10 (Book Expo Thailand 2005) ชูความยิ่งใหญ่ “ก้าวสู่ดินแดนแห่งความรู้”

ข่าวทั่วไป Thursday September 8, 2005 11:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 10 (Book Expo Thailand 2005) ชูความยิ่งใหญ่ “ก้าวสู่ดินแดนแห่งความรู้” รัฐ-เอกชน ผนึกความร่วมมือ ผลักดันกรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์กลางหนังสือโลก (Bangkok World Book Capital) ในปี 2008
สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เตรียมจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 10 หรือ BOOK EXPO THAILAND 2005 ระหว่างวันที่ 6-16 ตุลาคม 2548 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตอกย้ำวิสัยทัศน์สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ รักการอ่านหนังสือ พร้อมผนึกความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนสร้างกรุงเทพฯ เป็น มหานครแห่งการเรียนรู้ เสนอชื่อเข้าชิง World Book Capital ปี 2008 มั่นใจคนไทยร่วมใจแสดงพลังรณรงค์การอ่านทั้งในระดับเมืองและระดับประเทศ
นายธนะชัย สันติชัยกูล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เป้าหมายในการจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 10 หรือ BOOK EXPO THAILAND 2005 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 6—16 ตุลาคม นี้ โดยคอนเซ็ปต์ของงานคือ ก้าวสู่ดินแดนแห่งความรู้ เพื่อต้องการรณรงค์ให้คนไทยรักการอ่านหนังสือมากยิ่งขึ้น และต้องการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็น World Book Capital ให้ได้ในปี 2008 โดยสมาคมฯ ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่ช่วยกระตุ้น และผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการอ่าน และร่วมกันสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้กับเด็กและเยาวชนของไทย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้เด็กไทยรักการอ่านหนังสือมากขึ้น โดยเฉพาะ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ออกมาแนะนำหนังสือผ่านที่ประชุม คณะรัฐมนตรีหลายต่อหลายครั้ง และมีโครงการของกระทรวงศึกษาธิการ “วางทุกงาน อ่านทุกคน คนละ 15 นาที” โครงการของกระทรวงวัฒนธรรม “1 ตำบล 1 ห้องสมุด” โครงการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สร้างห้องสมุดเสริมปัญญา และโครงการเมืองหนังสือ “ไทยแลนด์ บุ๊ค ทาวเวอร์” ของบริษัท บุ๊ค ทาวเวอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นต้น แม้แต่การจัดงาน Book Fair ของไทยที่มีความเข้มแข็งมาก จนหลายประเทศมองว่า หากจะจัดงาน Book Fair ให้ดีและยิ่งใหญ่ต้องมาดูที่ประเทศไทย ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ผมเชื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Bangkok World Book Capital 2008 ได้อย่างแน่นอนครับ”
นายวรพันธ์ โลกิตสถาพร เลขาธิการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานในวันที่ 6 ต.ค.นี้ เวลา 09.00 น. โดยในปีนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมออกบูธราว 350 ราย จำนวน 811 บูธ บนพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร ซึ่งผมเชื่อว่าเฉพาะในงานนี้งานเดียวจะมีหนังสือออกใหม่มาให้เลือกซื้อกันถึง 1,000 เรื่อง และจะมีผู้เข้าชมงานสูงถึง 1.5 ล้านคน
ส่วนกิจกรรมเด่นๆ ภายในงานบริเวณห้องบอลรูม ทางสมาคมฯ ได้ร่วมกับสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์จัดให้มีนิทรรศการภาพสีน้ำสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในอิริยาบทต่างๆ ขณะที่เสด็จเยือนต่างประเทศ จำนวน 51 ภาพเขียน โดยคุณทวีพงษ์ ลิมาภรณ์วณิชย์ นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมพิเศษบริเวณ เอเทรียม เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือ เผยแพร่แนวคิดนี้ให้ประชาชนที่มาร่วมงาน Book Expo Thailand ได้รับทราบและรณรงค์ โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อ โดยอาจารย์วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร ศิลปินเหรียญทองมาเป็นที่ปรึกษา นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือร่วมใจจากสมาคม องค์กรต่างๆ ที่จะช่วยกันสร้างภาพลักษณ์ของงานให้ยิ่งใหญ่ จากกล่องกระดาษใบน้อย ช่วยกันวาด ช่วยกันเขียน รณรงค์ให้ทุกคนมารักการอ่าน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างเมืองแห่งความรู้ กล่องใบน้อยที่ทำเสร็จ จะถูกนำมาวางต่อกันเป็นเมือง เปรียบเสมือนประชาชนไทยทุกคน กำลังก่ออิฐ ถือปูน สร้างกรุงเทพฯให้เป็น Bangkok World Book Capital
การที่จะทำให้กรุงเทพฯ ก้าวสู่การเป็น Bangkok World Book Capital ได้นั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และประเทศ ในการสร้างสรรค์โปรแกรมหรือกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้ประชาชนอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการที่เป็นตัวแทนจากโครงการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านของยูเนสโก สมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ สมาคมห้องสมุดนานาชาติ และสมาคม ผู้จำหน่ายหนังสือนานาชาติ ในฐานะหน่วยงานผู้จัดการประกวด World Book Capital จะใช้พิจารณา
ขณะเดียวกันก็มีเกณฑ์อื่นๆ ที่ใช้พิจารณาประกอบ เช่น อัตราเติบโตด้านยอดจำหน่ายของธุรกิจหนังสือซึ่งประเทศไทยโตเฉลี่ยปีละ 15-20% ด้านเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น ด้านการจัดพิมพ์ และด้านการกระจายหนังสือ เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราได้ทำกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยหน้าที่ของสมาคมฯ คือ การสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เกี่ยวกับการรณรงค์ให้อ่านหนังสือ และจัดรวบรวมข้อมูลด้านผลการ ส่งเสริมการอ่านดังกล่าว เพื่อนำเสนอให้กับคณะกรรมการของ World Book Capital พิจารณาต่อไป โดยเรามีแผนจะเสนอชื่อเมืองกรุงเทพฯ เข้าชิงในช่วงเดือนมีนาคมปี 2006 และคาดว่าจะทราบผลในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน เพื่อประกาศว่าเราจะเป็น Bangkok World Book Capital ปี 2008 ได้หรือไม่”
สำหรับการประกวด World Book Capital เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2001 มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมกิจกรรมการอ่านในระดับเมือง และระดับประเทศของเมืองนั้นๆ และยังส่งผลต่อการส่งเสริมการอ่านในระดับนานาชาติอีกด้วย ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2001-ปัจจุบัน มีเมืองที่ได้รับคัดเลือกทั้งสิ้น 7 เมือง ได้แก่ ปี2001 เมืองมาดริด ประเทศสเปน ปี2002 เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ ปี2003 เมืองนิวเดลฮี ประเทศอินเดีย ปี2004 เมืองอันเวิร์บ ประเทศเบลเยี่ยม ปี2005 เมืองมอนรีออล ประเทศแคนาดา ปี 2006 เมืองตูริน ประเทศ อิตาลี และปี 2007 เมืองโบโกตา ประเทศโคลัมเบีย
อนึ่ง จากการสรุปผลการสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของประชากร ประจำปี พ.ศ. 2548 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำรวจพบว่า จำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวนประมาณ 59.2 ล้านคน มีผู้อ่านหนังสือประมาณ 40.9 ล้านคน คิดเป็น 69.1% ของจำนวนประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป โดยอัตราการอ่านหนังสือของชายสูงกว่า คิดเป็น 51.5% และหญิงคิดเป็น 48.5%
เมื่อพิจารณาอัตราการอ่านหนังสือตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มวัยเด็ก อายุตั้งแต่ 10-14 ปี มีอัตราการอ่านหนังสือสูงสุด คิดเป็น 95.2% ทั้งนี้เนื่องจากอยู่ในช่วงวัยกำลังเรียน รองลงมาคือ กลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี คิดเป็น 83.1% และกลุ่มผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป มีอัตราการอ่านหนังสือต่ำสุด คือ 37.4% อัตราการอ่านหนังสือของประชากรมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับระดับการศึกษา ผู้ที่จบระดับอุดมศึกษามีอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่าผู้ที่จบการศึกษาในระดับอื่นๆ คิดเป็น 96.3% สำหรับผู้ที่จบระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า มีอัตราการอ่านหนังสือต่ำสุด คิดเป็น 61.8%
ประเภทของหนังสือที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุด ได้แก่ หนังสือพิมพ์ คิดเป็น 72.9%, นวนิยาย การ์ตูน หนังสืออ่านเล่น คิดเป็น 45.4%, นิตยสาร คิดเป็น 36.9% ตำราเรียนตามหลักสูตรมีผู้อ่าน คิดเป็น 34.4% และการอ่านจากอินเตอร์เน็ต คิดเป็น 10.2% นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้อ่านหนังสือ/ซีดี เกี่ยวกับธรรมะ คิดเป็น 5.7% โดยเนื้อหาสาระที่ผู้อ่านชอบ คือ ข่าวคิดเป็น 45.6% และเนื้อหาสาระที่ให้ความบันเทิง คิดเป็น 25.6%
พบกับมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 10 ได้ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยในวันที่ 6 ตุลาคม 2548 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน ในเวลา 09.00 - 12.00 น. ประชาชนสามารถเข้าชมงานได้ในเวลา 12.00 - 21.00 น. และวันที่ 7 - 16 ตุลาคม 2548 เปิดให้ชมงานเวลา 10.00 - 21.00 น. งานสำคัญที่จะเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้คนไทยรักการอ่านมากขึ้น และผลักดันให้ไทยก้าวไกลสู่การเป็นศูนย์กลางหนังสือโลก หรือ Bangkok World Book Capital 2008
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ :
บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
รัชฎา บุลนิม, ภวิกา ขันทเขตต์, สุขกมล งามสม
โทรศัพท์ 0 2274 4961-2, 0 2691 6302-4--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ