กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--กระทรวงการต่างประเทศ
สหรัฐฯ พร้อมช่วยไทยพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เตรียมปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพ พร้อมนำภาครัฐ-เอกชนไทยดูงานบริษัทชั้นนำ อาทิ FedEx, UPS, Wall Mart และมีแผนจัดงานใหญ่ Logistics Fair ในไทยเพื่อจับคู่ทางธุรกิจและฝึกอบรมพัฒนาผู้ประกอบการไทยด้วย
นายนิตย์ พิบูลสงคราม หัวหน้าคณะเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหรัฐฯ เปิดเผยภายหลังการเจรจานอกรอบ วันที่ 3 (16 พ.ย. 48) จากทั้งหมด 5 วัน ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ว่า การเจรจาในวันนี้ ได้รับความร่วมมือจากสหรัฐฯ เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนไทยในกลุ่มการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการค้าและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Trade Capacity Building/SMEs) ซึ่งมีขึ้นเพื่อรองรับการเปิดเสรีในภาคต่างๆ ภายใต้กรอบเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ โดยในวันนี้ สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทยได้เสนอรายละเอียดแผนดำเนินงานโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทยต่อเนื่องจากการหารือกับสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายน 2548 นอกจากนี้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมกับสถาบันอาหารยังได้เสนอความร่วมมือเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารและการวิเคราะห์ตรวจสอบคุณภาพของอาหารอีกด้วย
โดยในเรื่องของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทย สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทยได้เสนอให้สหรัฐฯ ช่วยเหลือด้านการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาไทย เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรด้านโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้แทนสหรัฐฯ ได้ตอบรับที่จะให้ความร่วมมือ โดยเสนอให้ตัวแทนภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชนของไทยไปศึกษาดูงานกับหน่วยงานทางด้านโลจิสติกส์ในสหรัฐฯ อาทิ Global Maritime and Transportation School (GMATS) และมหาวิทยาลัยในมลรัฐจอร์เจีย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านโลจิสติกส์ที่ดีที่สุดในสหรัฐฯ ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้ระบบโลจิสติกส์จากบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ เช่น FedEx UPS และ Wall Mart เป็นต้น
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันจัดงาน US — Thailand Logistics Fair & Symposium ในประเทศไทยโดยในงานนี้จะมีการจัดสัมมนาทางวิชาการ การฝึกอบรมผู้ประกอบการและบุคลากรของไทยในด้านการจัดการโลจิสติกส์ และการปรับปรุงมาตรฐานโลจิสติกส์ไทย เพื่อให้สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในสินค้าและบริการประเภทต่างๆ นอกจากนี้ การจัดงาน Logistics Fair จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายได้เจรจาจับคู่ทางธุรกิจซึ่งกันและกัน ซึ่งสหรัฐฯ พร้อมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะในทางกลับกันการช่วยพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทยจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจของสหรัฐฯ ที่เข้ามาลงทุนในไทย อีกทั้งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจด้านโลจิสติกส์ของไทยให้ขยายไปในระดับสู่ภูมิภาคด้วย
สำหรับข้อเสนอของไทยในเรื่องระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหารและการวิเคราะห์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าอาหารนั้น ตัวแทนจากสถาบันอาหารได้นำเสนอภาพรวมและสถานการณ์ในเรื่องดังกล่าวแก่ทีมเจรจาของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก และจะมีการจัดทำรายละเอียดเพื่อยื่นเสนอต่อสหรัฐฯ อีกครั้งหลังจากหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเจรจาครั้งต่อไปที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ ซึ่งแนวทางของความร่วมมือในเรื่องนี้ จะมีการร่วมมือกันปรับปรุงการใช้ระบบมาตรฐานด้านอาหาร เสริมสร้างความรู้และพัฒนาผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติทางด้านความปลอดภัยของอาหาร รวมทั้งการเสริมสร้างความรู้ในด้านการวิเคราะห์และตรวจสอบคุณภาพของสินค้าอาหาร
นายนิตย์กล่าวต่อไปถึงความคืบหน้าในการเจรจาเรื่องแรงงาน ว่า ภาพรวมการเจรจาเป็นไปด้วยดี และทีมเจรจาสหรัฐฯ ได้ยอมรับที่จะให้มีการระบุข้อความเพิ่มเติมในข้อตกลงด้วยว่า สหรัฐฯ จะไม่นำเรื่องมาตรฐานแรงงานมาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าต่อประเทศไทย--จบ--