กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--ปภ.
ในการใช้รถใช้ถนนให้ปลอดภัย นอกจากผู้ขับขี่ต้องเตรียมสภาพร่างกายและจิตใจให้ พร้อมแล้ว เรียนรู้เส้นทางก่อนออกเดินทาง ตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์ และรถยนต์แล้ว ปัจจัยเสริมอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ ก็คือ “ท่านั่งและที่นั่งในการขับ”
ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงที่ผู้ผลิตรถยนต์คิดค้น ทำให้เบาะที่นั่งของผู้ขับ สามารถปรับได้ตามตำแหน่งที่ต้องการ แต่ข้อดีดังกล่าวนี้ ก็อาจทำให้ผู้ขับขี่เกิดความสับสน และปรับเบาะที่นั่งให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมได้ ซึ่งการปรับที่นั่ง และท่านั่งอย่างเหมาะสม จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการควบคุมรถยนต์ และการมองเห็นสภาพเส้นทางของผู้ขับขี่ ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมสร้างความปลอดภัยในการขับรถ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอนำเสนอวิธีการปรับที่นั่ง และท่านั่งขับรถอย่างเหมาะสม ดังนี้
1. การปรับตำแหน่งเบาะ เพื่อท่านั่งที่สบายและปลอดภัย โดยเบาะนั่งที่ดีควรปรับได้
อย่างน้อย 3 จุด คือ
- เบาะนั่ง ควรปรับให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม สามารถตรวจสอบด้วยการใช้ฝ่าเท้าซ้ายเหยียบแป้นคลัตซ์ลงให้สุด อย่าใช้ปลายเท้าเหยียบ โดยบริเวณสะโพกต้องติดพนักพิง จากนั้นให้เลื่อนเบาะไปตามตำแหน่งที่ต้องการ โดยข้อศอกซ้ายต้องงอได้เล็กน้อย ส่วนรถที่ใช้ระบบเกียร์อัตโนมัติ สามารถตรวจสอบได้โดยใช้วิธีเดียวกัน แต่ให้เปลี่ยนจากการเหยียบแป้นคลัตซ์เป็นการเหยียบแป้นเบรกแทน
- พนักพิง สามารถตรวจสอบได้โดยใช้มือซ้าย และมือขวาจับพวงมาลัย ในมือซ้ายอยู่ในตำแหน่ง 9 นาฬิกา หรือ 10 นาฬิกา ส่วนมือขวาควรอยู่ในตำแหน่ง 3 นาฬิกา หรือ 2 นาฬิกา แล้วปรับเลื่อนพนักพิงให้อยู่ในตำแหน่งที่ข้อศอกสามารถงอได้เล็กน้อย จากนั้นให้ลองเลื่อนมือไปที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา หากสามารถเหยียดแขนได้ตึง แสดงว่า อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว
- หมอนรองศีรษะ อุปกรณ์ชนิดนี้มีไว้เพื่อลดการบาดเจ็บบริเวณต้นคอ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ในลักษณะถูกชนท้าย ควรปรับให้ขอบหมอนอยู่ในระดับเดียวกันกับใบหูด้านบน หากหมอนสามารถ ปรับเอียงได้ ควรปรับให้อยู่ในตำแหน่งที่ใกล้ศีรษะมากที่สุด เพื่อลดการสะบัดของศีรษะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
2. การปรับตำแหน่งพวงมาลัย ปัจจุบันรถยนต์ส่วนใหญ่ สามารถปรับตำแหน่งของ
พวงมาลัยได้ทั้ง 4 ทิศทาง ผู้ขับรถไม่ควรปรับไว้ต่ำ — สูง หรือไกลจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการเมื่อยล้า และลดความฉับไวในการบังคับทิศทาง แต่หากปรับใกล้เกินไปก็จะส่งผลต่อการทำงานของถุงลมนิรภัยในขณะที่เกิดอุบัติเหตุเช่นกัน
3. การปรับมุมกระจกข้างและกระจกมองหลัง การปรับกระจกข้างซ้าย — ขวา ไม่ควรให้เห็นตัวถังรถด้านข้างมากเกินไป เพราะจะลดมุมมองด้านกว้างลง ควรปรับให้อยู่ในแนวขนาน ไม่ก้มหรือเงยมากเกินไป ส่วนกระจกมองหลัง ควรปรับให้เห็นภาพด้านกว้างมากที่สุด โดยเมื่อผู้ขับนั่งท่าปกติแล้ว ไม่ควรให้เห็นศีรษะของผู้ขับ
4. ท่านั่ง ผู้ขับหลายคนปรับเบาะได้อย่างถูกต้อง แต่ขณะขับมักโยกตัวมาด้านหน้า เพื่อให้สามารถมองเห็นปลายฝากระโปรงหน้า ทำให้สูญเสียความฉับไวและความแม่นยำในการควบคุมรถ ดังนั้น ผู้ขับขี่จึงไม่ควรคำนึงว่าจะสามารถมองเห็นฝากระโปรงรถหรือไม่ เพราะรถยนต์รุ่นใหม่มักถูกออกแบบให้ ฝากระโปรงหน้าลาดเท เพื่อผลทางหลักอากาศพลศาสตร์ ถึงแม้จะชะโงกก็ไม่สามารถมองเห็นฝากระโปรงได้
จากคำแนะนำดังกล่าวข้างต้น ผู้ขับขี่ควรนำเทคนิคการปรับที่นั่ง เบาะที่นั่ง กระจกรถ ท่านั่งขับรถที่ถูกวิธี ไปปฏิบัติอย่างเหมาะสม เพราะอย่างน้อย แม้จะไม่ส่งผลในชั่วพริบตา แต่จากการศึกษาของ เหล่านักวิชาการ ต่างก็ยืนยันตรงกันว่า การปรับที่นั่งและท่านั่งตามวิธีการข้างต้น นอกจากจะช่วยลดความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อในขณะขับรถได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความแม่นยำในการควบคุมรถ และทำให้สามารถมองเห็นเส้นทางได้อย่างชัดเจนอีกด้วย ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความปลอดภัยในการขับรถได้อีก ทางหนึ่งนั่นเอง--จบ--