ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารธนชาตและบริษัท ทุนธนชาต

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 11, 2008 17:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) (TBANK) ที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C/D’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘4’ ในขณะเดียวกันฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศของบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) (TCAP) ระยะยาวที่ ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha)) อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F2(tha)’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘5’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
Bank of Nova Scotia ของประเทศแคนาดา (Scotia ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลที่ ‘(AA-’ (AA ลบ) / ‘F1+’) มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน TBANK ขึ้นเป็น 49% ภายในปี 2551 จาก 25% ในปัจจุบัน ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน การเพิ่มขึ้นในสัดส่วนการถือหุ้นและการ ควบคุมโดย Scotia คาดว่าจะเพิ่มความแข็งแกร่งต่อการดำเนินงานและผลประกอบการรวมทั้งเป็นผลดีต่ออันดับเครดิตของ TBANK ในระยะปานกลาง อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อส่วนใหญ่ในประเภทลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ ความเสี่ยงที่มากขึ้นของคุณภาพสินทรัพย์ และความสามารถในการทำกำไรยังคงเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของธนาคาร อันดับเครดิตของ TCAP อยู่บนพื้นฐานที่ TCAP จะสามารถรักษาระดับหนี้สินที่ค่อนข้างต่ำไว้ได้ จากการที่พอร์ตลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ที่เหลืออยู่ที่ TCAP จะหมดลงในปีหน้า ทำให้ TCAP ต้องพึ่งพาผลการดำเนินงานและการจ่ายเงินปันผลจาก TBANK มากขึ้น
ในปี 2550 TBANK รายงานผลกำไรสุทธิที่ 1.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 0.2 พันล้านบาทในปีก่อนหน้า โดยผลกำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากการโอนธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และธุรกิจอื่น ๆ ในกลุ่มมาจาก TCAP ซึ่งได้แก่ ธุรกิจประกันภัย การจัดการกองทุน และธุรกิจหลักทรัพย์ อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.8% ในปี 2550 จาก 2.7% ในปี 2549
ณ สิ้นปี 2550 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ 5.2 พันล้านบาทจาก 3.8 พันล้านบาทในปี 2549 แต่ยังคงถือว่าค่อนข้างต่ำ โดยมีอัตราส่วนอยู่ที่ประมาณ 2.3% ของสินเชื่อทั้งหมด อย่างไรก็ตามหนี้สินจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท หรือ 8.5% ของสินเชื่อทั้งหมด จาก 1.03 หมื่นล้านบาท หรือ 5.1% ของสินเชื่อทั้งหมด ค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 2.6 พันล้านบาทจาก 1.3 พันล้านบาท โดยธนาคารคาดว่าจะมีการตั้งหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญประมาณ 3 พันล้านบาทในปี 2551 อัตราส่วนของการกันสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ประมาณ 80% ถือว่าค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าการเติบโตของสินเชื่ออย่างมากของธนาคารในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และหนี้สินจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษที่เพิ่มขึ้น ยังคงทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงในการตั้งหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติม
ณ สิ้นปี 2550 TBANK มีอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่แข็งแกร่งอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท หรือ 10.2% ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มทุนในเดือนกรกฎาคม 2550 การปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจทำให้มีความจำเป็นที่ธนาคารจะต้องทำการเพิ่มทุนในอีก 1 ถึง 2 ปีข้างหน้า
ในปัจจุบัน TBANK เป็นบริษัทหลักในการดำเนินงานภายใต้กลุ่มธนชาต โดยประกอบธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และธุรกิจที่เกี่ยวกับการให้บริการทางการเงินอื่นทั้งในด้านธุรกิจหลักทรัพย์ การจัดการกองทุน และการประกันภัย ในขณะที่ Scotia เป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับสามของประเทศแคนาดา โดยมีสินทรัพย์จำนวน 4.12 แสนล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ และมีสาขาต่างประเทศที่สำคัญในแถบประเทศแคริบเบียน และละตินอเมริกา ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และธุรกิจการปล่อยสินเชื่อรายย่อยเป็นหนึ่งในจุดแข็งของ Scotia
ติดต่อ
ดรุณี เพียรมานะกิจ, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4752/4759

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ