ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารกรุงเทพ แนวโน้มมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 11, 2008 17:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) ของธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C’ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ อันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BBB’ และอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ที่ ‘BBB-’ (BBB ลบ) อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของ BBL ที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ (tha))
อันดับเครดิตของ BBL สะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร ที่ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงสถานะเงินกองทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่งของ BBL ธนาคารยังได้ผลประโยชน์จากตลาดในระดับภูมิภาคที่มีสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่า โดยธนาคารมีสินเชื่อในต่างประเทศอยู่ที่ 17% ของสินเชื่อรวม การลดลงของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต รวมถึงความ สามารถในการทำกำไรที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและคงที่จะเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของธนาคารในอนาคต การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและกลยุทธ์น่าจะช่วยให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นได้ เมื่อพิจารณาถึงขนาดของ BBL และความสำคัญที่มีต่อภาคการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลถ้าจำเป็น
ผลกำไรสุทธิในปี 2550 เพิ่มขึ้น 7.2% มาอยู่ที่ 19.3 พันล้านบาท จาก 18.0 พันล้านบาท ในปี 2549 โดยมีสาเหตุหลักจากการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิอยู่ในระดับเดิมที่ 3.1% การขยายตัวของสินเชื่อปรับตัวสูงขึ้นที่ 8.3% (5% ในปี 2549) ในไตรมาส 1 ปี 2551 BBL รายงานผลกำไรสุทธิที่ 5.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.3% จาก 4.7 พันล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2550 เนื่องจากการขยายตัวของสินเชื่อที่สูงขึ้น ต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง รายได้ค่าธรรมเนียมและกำไรจากการปริวรรตเงินตราที่สูงขึ้น รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 82.1 พันล้านบาท หรือ 7.9% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2550 จาก 89.3 พันล้านบาท หรือ 9.3% ณ สิ้นปี 2549 เนื่องจากการตัดบัญชีหนี้สูญ การปรับโครงสร้างหนี้ และการชำระหนี้คืนด้วยเงินสดโดยลูกหนี้ของธนาคาร ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทรงตัวที่ 7.9% โดยที่ธนาคารคาดว่าจะสามารถลดระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลงเหลือประมาณ 5% ภายในสิ้นปี 2551 อย่างไรห็ตามสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่อ่อนแอลงอาจเป็นอุปสรรคต่อการลดลงของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ระดับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของ BBL อยู่ที่ 68.3 พันล้านบาท หรือเท่ากับ 79.3% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 อัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมของ BBL อยู่ที่ 11.4% และ 14.4% ของสินทรัพย์เสี่ยง ตามลำดับ อัตราส่วนเงินกองทุนน่าจะปรับตัวลดลงประมาณ 1% ถึง 2% ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ Basel II ณ สิ้นปี 2551
BBL เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 20%
ติดต่อ
ดรุณี เพียรมานะกิจ, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4752/4759

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ