กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--
ชุมชนได้ใช้พลังงานจากลม ผู้คนลดค่าใช้จ่ายได้จากพลังงานน้ำ พลังงานงานขยะ เดินทางไปมาด้วยรถขับเคลื่อนไฟฟ้า น้ำเสีย ขยะถูกขจัดหมดไป มีเส้นทางธรรมชาติผ่อนคลายร่างกายจรรโลงจิตใจ : เหล่านี้จะเป็นฝันที่เป็นจริง หรือเป็นเพียงความหวังที่เลื่อนลอยขึ้นอยู่กับคุณ หรือ ใคร?
จากสถานการณ์ราคาน้ำมันพุ่งสูง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ค่าเงินเฟ้อที่ซ้ำเติมความยากลำบากของประชาชนอย่างถ้วนหน้า โดยแนวโน้มของวิกฤตน้ำมันและความต้องการพลังงานที่มีเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ในขณะที่จำนวนของพลังงานต่างๆ ลดน้อยถอยลงทุกวินาทีนั้น
ความคิดความพยายามในการร่วมลดการใช้พลังงานในลักษณะต่างๆ ของประชาชนเป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่สามารถชะลอปัญหาพลังงานได้บางส่วน ซึ่งยังต้องใช้การดำเนินการแก้ปัญหาในภาพใหญ่ของหน่วยงานต่างๆ ทั้งการค้นหาและพัฒนาพลังงานใหม่ๆ ทดแทน เช่น พลังงานน้ำ พลังงานลม หรือแม้แต่พลังงานจากขยะซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจและควรเอาจริงเอาจังกับเรื่องเหลานี้โดยเร็ว
อพท. หรือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนบนพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้าง จ.ตราด ซึ่งปัญหาเรื่องพลังงานเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการท่องเที่ยวของ อพท. โดยได้ประสานหน่วยงาน ชุมชนและผู้คนที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา ได้ประสานความร่วมมือกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน หารือแนวทางการพัฒนาพลังงานทดแทนจากพลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานจากขยะ Bio Gas และ Bio Mass เพื่อสนับสนุนการพัฒนา อบต. เกาะหมาะ , เกาะกูด ภายใต้แนวคิด Green Island กับ “สุดแดนสวรรค์ตะวันออก (East-End Paradise) ที่เกาะหมาก” และ “Hight End ณ เกาะกูด” โดย อพท. จะเริ่มศึกษาระบบพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ (Solar Heat) และความเหมาะสมการใช้พลังงานทดแทนต่างๆ ดังกล่าว เพื่อสร้างมาตรฐานด้านการอนุรักษ์พลังงานสู่การพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในระดับสากล ดังเช่นตัวอย่างที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นแล้วบนเกาะมัลดีฟ ทั้งนี้ พพ. จะให้การสนับสนุนงบประมาณ 30% แก่ผู้ร่วมลงทุนในโครงการ
แต่หากจะเจาะปัญหาบนเกาะหมาก ใน จ.ตราด ให้ลึกเฉพาะลงไปนั้น ยังมีปัญหาและความต้องการของชุมชนที่เป็นความฝันและความคาดหวังรอการแก้ไขอีกจำนวนมาก โดยจากการสำรวจปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ต.เกาะหมาก อ.เกาะกูด จ.ตราด พบปัญหาที่ต้องการการแก้ไขเร่งด่วนในพื้นที่ทั้งด้านสาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งความต้องการในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบนเกาะ ซึ่ง อบต. ต.เกาะหมาก ได้ประสานให้ อพท. ร่วมแก้ปัญหาและสนับสนุนความต้องการชุมชนในเรื่องต่างๆ เช่น การกำจัดขยะมูลฝอย การจัดทำบ่อบำบัดน้ำเสีย เส้นทางสำรวจธรรมชาติขึ้นสู่จุดชมวิวเขาบ้านแหลมตุ๊กตา และการดำเนินการเรื่องรถพลังงานไฟฟ้า
นายวรสิทธิ์ โรจนพานิช ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ให้ความเห็นว่า “อพท. เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาและความต้องการของชุมชนบนพื้นที่เกาะหมาก โดยได้เข้าไปประสานการดำเนินการเรื่องต่างๆ ซึ่งหลักการดำเนินงานของ อพท. นั้น เราเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วน เริ่มตั้งแต่การรับฟังความคิดเห็นประชาชนบนเกาะ การให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบต่างๆ รวมทั้งการสำรวจข้อมูลเพื่อพัฒนาแผนแม่บทพัฒนาเกาะหมาก ซึ่งพบว่าแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะหมากยังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรทางทะเลที่เหมาะแก่การพัฒนาเป็นต้นแบบการอนุรักษ์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความเป็นเลิศทางธรรมชาติ โดยมีบางส่วนที่ควรเข้าไปแก้ไขพัฒนาซึ่งเป็นส่วนที่เริ่มถูกทำลาย เริ่มต้องการการจัดการในเรื่องต่างๆ ทั้งขยะ น้ำเสีย พลังงาน เหล่านี้ต้องมีเจ้าภาพดำเนินการ โดย อพท. จะเป็นหน่วยประสานความร่วมมือและผลักดันให้เกิดการพัฒนาในชุมชนบนเกาะหมากต่อไป”
“แผนพัฒนาเกาะหมาก” ความฝันของชุมชนบนพื้นที่นี้ จะเป็นเพียงความหวังที่เลื่อนลอย หรือจะเป็นฝันที่ยิ่งใหญ่เป็นจริงได้นั้น ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น อบต. ผู้ประกอบการ ชุมชนคนเกาะหมาก พพ. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียว เฉกเช่น อพท. ไม่สามารถทำทุกเรื่องดำเนินการทุกอย่างได้ด้วยตนเอง อพท. เป็นเพียงกลไกกลางขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ให้ต่อเชื่อมดำเนินต่อไปให้ถึงเป้าหมายได้เท่านั้นเอง