iTAP ใช้เทคโนโลยีพัฒนาสูตรหมูยอเพื่อสุขภาพ ผลิตจากกากมอลต์ สูงด้วยใยอาหารและโปรตีน

ข่าวทั่วไป Thursday June 12, 2008 12:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย
โครงการ iTAP สวทช. เครือข่ายภาคเหนือ ช่วยผู้ประกอบการด้านแปรรูปเนื้อสัตว์ หจก.เนื้อทิพย์ คิดค้นพัฒนาหมูยอสูตรใหม่เพื่อคนรักสุขภาพรายแรกในเมืองไทย โดยนำกากมอลต์ที่เป็นของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมผลิตเบียร์สดมาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังส่งผลดีต่อสุขภาพเพราะมอลต์อุดมด้วยใยอาหารและโปรตีน ช่วยในด้านการขับถ่ายและกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย มั่นใจจะเป็นที่ต้องการของตลาด เพียงรอเวลาเนื้อหมูราคาลดลง พร้อมเร่งการผลิตป้อนตลาดคนรักสุขภาพทันที
หนึ่งในเมนูอาหารพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของชาวล้านนา ที่เป็นที่รู้จักชื่นชอบกันดีของนักท่องเที่ยวและนิยมซื้อมาบริโภคกันเสมอนั่นคือ “หมูยอ” ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเนื้อหมูผสมกับเครื่องปรุงรสและส่วนประกอบอื่นๆ นำมาคลุกเคล้าให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วบรรจุในวัสดุห่อหุ้มให้แน่น จากนั้นนำไปนึ่งหรือต้มให้สุกก็จะได้ผลิตภัณฑ์หมูยอที่กลิ่นหอมละมุน รสชาติกลมกล่อมชวนรับประทาน
ปัจจุบันมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หมูยอให้มีความหลากหลาย น่าลิ้มลอง รวมถึงเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้สูงยิ่งขึ้นด้วยการนำส่วนประกอบอื่นๆ มาผสม ไม่ว่าจะเป็น หนังหมู เห็ดหอม พริกไทยดำ สาหร่าย ฯลฯ และล่าสุดได้มีการคิดค้นผลิตภัณฑ์หมูยอในรูปแบบใหม่โดยการนำกากมอลต์ที่มีใยอาหาร ให้ประโยชน์ต่อร่างกายมาเป็นส่วนผสมในหมูยอ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์แล้วยังเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ เนื่องจากกากมอลต์นั้นจะอุดมไปด้วยใยอาหาร และโปรตีน ช่วยในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายและทำให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนั้นได้มาจากผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด เนื้อทิพย์ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมืองของภาคเหนือที่เป็นที่รู้จักกันดีนั่นเอง
นายสถิตคุณ สิงหลักษณ์ ผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เนื้อทิพย์ เปิดเผยว่า หจก.เนื้อทิพย์ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2506 โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการทดลองทำแหนมรับประทานกันเอง ซึ่งรสชาติที่ทำออกมานั้นอร่อยเป็นที่ถูกปากผู้ที่ได้ลิ้มลอง จึงคิดทำแหนมขายเป็นธุรกิจในครอบครัว
“แรกเริ่มทำแหนมขายที่ จ.เชียงใหม่ ใช้ชื่อว่า “ทิพย์เสน่ห์” 2 ปีต่อมาได้ตัดสินใจย้ายเข้ากรุงเทพฯ เพราะต้องการขยายตลาดออกไป กระทั่งปี พ.ศ.2516 จึงย้ายกลับมาที่เชียงใหม่อีกครั้งและเปลี่ยนชื่อเป็น “เนื้อทิพย์” แทนชื่อเดิม ซึ่งตรงนี้ได้มีผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นมาอีก 1 ชนิด คือหมูยอ ส่วนแหนมนั้นได้เพิ่มให้มีหลากหลายรูปแบบขึ้นเพื่อผู้บริโภคได้เลือกซื้อตามอัธยาศัย ในขณะนั้น หจก.เนื้อทิพย์ เป็นผู้ผลิตส่งให้กับร้านค้าและตลาดในเชียงใหม่ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว จากนั้นผู้ขายก็จะนำไปติดแบรนด์ต่างๆ กันเอง ถือได้ว่าเราเป็นผู้บุกเบิกหมูยอเจ้าแรกของเชียงใหม่เลยทีเดียว”
ด้านการตลาดในขณะนั้นถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างมาก จนบางครั้งผลิตไม่เพียงพอที่จะส่งจำหน่าย ต้องเพิ่มกำลังการผลิตโดยเฉพาะช่วงเทศกาล ต่อมาก็มีลูกค้าบางรายได้คิดค้นหาสูตรเพื่อมาพัฒนา ปรับปรุง ดัดแปลงและผลิตเป็นสูตรของตนเอง ส่งผลให้ยอดขายของบริษัทลดลงไปบ้าง แต่ด้วยคุณภาพและชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักกันมานานบริษัทจึงมีข้อได้เปรียบในเรื่องของการทำตลาดโดยเน้นการบริการที่ดีต่อลูกค้า จัดส่งสินค้าให้ถึงที่ตรงเวลาไม่ว่าจะมีจำนวนมากหรือน้อยก็ตาม ส่วนกระบวนการผลิตนั้นบริษัทใส่ใจทุกขั้นตอน รวมทั้งการพัฒนาฝีมือและรสชาติ นอกจากนี้ยังมีการนำเครื่องจักรทันสมัยเข้ามาใช้ช่วยให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เป็นจำนวนมาก
นายสถิตคุณ กล่าวต่ออีกว่า เมื่อบริษัทสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ออกมาป้อนตลาดได้ตามเป้าหมายที่วางไว้แล้วทั้งแหนมและหมูยอ จึงมีแนวคิดต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาบ้าง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะกับที่ทราบว่าทางโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) มีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่บริษัทต้องการทำคือ “หมูยอผสมกากมอลต์” หลังจากที่ได้หารือกันผู้เชี่ยวชาญแสดงความมั่นใจว่าสามารถทำได้
หลังจากนั้นจึงได้เข้าร่วมกับโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เครือข่ายภาคเหนือ ในโครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์หมูยอเสริมใยอาหารจากกากมอลต์” โดยมี นางสุธยา พิมพ์พิไล ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาแนะนำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หมูยอ ให้มีส่วนผสมของใยอาหารที่ได้จากอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์สด ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังได้ผลิตภัณฑ์หมูยอในรูปแบบใหม่ที่มีใยอาหารซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น
“ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้บริษัทมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หมูยอจากส่วนผสมของใยอาหารที่ได้จากของเหลือใช้ที่เกิดจากอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์สด มาก่อให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคที่ดูแลเรื่องสุขภาพ เนื่องจากกากมอลต์จะอุดมไปด้วยใยอาหารและโปรตีน ช่วยในด้านการขับถ่ายและการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย อีกทั้งยังได้แนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงสูตรให้ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และจากที่ดำเนินโครงการมาได้มีการสำรวจการยอมรับของผู้บริโภค ทำให้บริษัทสามารถนำข้อเสนอแนะต่างๆ มาปรับปรุงผลิตภัณฑ์สูตรดั้งเดิม ส่งผลให้มียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ขณะที่บุคลากรที่ได้รับการพัฒนามีทักษะด้านการผลิตและความสามารถเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวที่เกิดขึ้นนับได้ว่ามีประโยชน์อย่างมหาศาล แต่เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยในขณะนี้ส่งผลให้บริษัทยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ปัจจัยสำคัญคือเนื้อหมูที่เป็นวัตถุดิบหลักนั้นมีราคาถีบตัวสูงขึ้นมาก ถ้าเปิดตลาดช่วงนี้ผลิตภัณฑ์จะมีราคาค่อนข้างสูง ทำตลาดยาก ซึ่งเป็นอุปสรรคมาก คงต้องรอเวลาและโอกาสที่เหมาะสมต่อไป แต่ถือได้ว่าบริษัทเราเป็นเจ้าแรกในประเทศไทยที่ผลิตหมูยอเสริมใยอาหารจากกากมอลต์เป็นผลสำเร็จ ส่วนสถานที่ที่จะวางจำหน่ายนั้นเน้นที่ร้านจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายระดับกลางค่อนข้างสูง
ผู้จัดการกล่าวถึงอนาคตของบริษัทว่า “แผนต่อไปของบริษัทคือการขยายตลาดให้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากในร้านสะดวกซื้อที่วางขายเป็นหลัก เราจะขยายไปตามห้างสรรพสินค้า และมีหน่วยรถเคลื่อนที่วิ่งส่งในเขตจังหวัดทางภาคเหนือ และภาคกลางบางส่วน อีกทั้งจะขยายกลุ่มลูกค้าให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งในปีที่ผ่านมาบริษัทมีผลประกอบการประมาณ 4-7 ล้านบาท เนื่องจากส่วนแบ่งทางการตลาดมีมากพอสมควร คาดว่าเร็วๆ นี้จะมียอดขายเพิ่มขึ้นแน่นอนเพราะเรารุกแผนการตลาดหลายช่องทางโดยเฉพาะหน่วยรถเคลื่อนที่ที่เจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรงทั้งในหมู่บ้าน ร้านค้า ตลาดสด ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นอกจากนี้บริษัทจะได้พัฒนาในเรื่องของคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้นไป รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติมอีกในเร็วๆ นี้ โดยจะเป็นแหนมสำเร็จรูปพร้อมรับประทานได้ทันทีซึ่งยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดทำมาก่อน ซึ่งเราดำเนินการจดสิทธิบัตรไว้ด้วย” นายสถิตคุณ กล่าวในที่สุด.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ