“นักวิชาการ” เตือนไทยเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ หลัง “พายุ-แผ่นดินไหว” ถล่มเพื่อนบ้าน

ข่าวทั่วไป Thursday June 12, 2008 15:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--เอ้าดอร์ คอมมูนิเคชั่น
นักวิชาการ แนะภาครัฐเร่งให้ความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติธรรมชาติ หลังเกิดเหตุภัยพิบัติในจีน — พม่า พร้อมระบุรัฐฯ ควรพิจารณาปรับปรุงหรือเสริมความแข็งแรงแก่อาคารสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานที่อ่อนแอหรือมีระบบโครงสร้างที่ไม่ดี ขณะที่ภาคเอกชน เรียกร้องทุกหน่วยงานเห็นความสำคัญระบบเตือนภัย เชื่อจะลดความสูญเสียได้มหาศาล
ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า หลังจากที่ประเทศเพื่อนบ้านเจอภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งพายุไซโคลน “นาร์กีส” ถล่มประเทศพม่า และแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่มณฑลเสฉวนของจีน ทำให้มีคนเสียชีวิตหลายหมื่นคนที่ผ่านมานั้น สำหรับประเทศไทย ถึงแม้โอกาสที่จะเกิดภัยรุนแรงในระดับภัยทั้งสองดังกล่าวแทบเป็นไปไม่ได้ก็ตาม แต่ก็ไม่ควรประมาท เนื่องจากภัยธรรมชาติมีความไม่แน่นอนเหนือความคาดหมาย ดังตัวอย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์เคยเชื่อว่าอ่าวไทยมีลักษณะภูมิประเทศที่ไม่เอื้อต่อการก่อพายุไต้ฝุ่น แต่ก็ปรากฏว่าตำราผิด ในปี 2532 ประเทศไทยต้องประสบกับพายุไต้ฝุ่นเกย์ ซึ่งพัดถล่มบริเวณจังหวัดชุมพรและจังหวัดใกล้เคียง ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงและมีประชาชนเสียชีวิตกว่า 600 คน
ส่วนภัยแผ่นดินไหวนั้น ดร.ปณิธาน ชี้แจงว่า ไทยก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะในพื้นที่ของประเทศมีรอยเลื่อนที่มีพลังอยู่หลายแห่ง เช่น รอยเลื่อนแม่จัน จ.เชียงราย รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี ซึ่งหากรอยเลื่อนในจ.กาญจนบุรีมีการเคลื่อนตัว ก็อาจจะส่งผลทำให้เกิดแผ่นดินไหวและจะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ เพราะมีระยะทางไม่ไกลมากนัก ประกอบกับดินในกรุงเทพฯ เป็นดินอ่อน ซึ่งจะขยายการสั่นไหวของพื้นดินมากขึ้น
“การเตือนภัยแผ่นดินไหวนั้น ถือว่าทำไม่ได้ในขณะนี้ หนทางที่ดีที่สุดคือ การป้องกันและให้ความรู้กับประชาชน ทางการควรให้ความสำคัญแก่อาคารสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการยังชีพ หรือการบรรเทาสาธารณภัยเป็นลำดับแรก (เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล อาคารโรงไฟฟ้า รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สะพาน ทางด่วน ฯลฯ) โดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดให้มีการประเมินความแข็งแรงของอาคารเหล่านี้และเสริมความแข็งแรงหากมีความจำเป็น โดยให้ความสำคัญแก่อาคารที่มีลักษณะอ่อนแอชัดเจนหรือมีระบบโครงสร้างที่ไม่ดี เช่น อาคารโรงเรียนที่ชั้นล่างเปิดโล่ง ส่วนอาคารใหม่นั้นก็จะต้องออกแบบเพื่อป้องกันการสั่นสะเทือนได้ และที่น่ายินดี เพราะตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมปีที่ผ่านมา ไทยเราได้บังคับใช้กฎหมายสำหรับอาคารที่สร้างใหม่ จะต้องเป็นอาคารที่ต้านแผ่นดินไหว ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้ครอบคลุม 15 จังหวัดที่มีความเสี่ยงแผ่นดินไหว คือ ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน จ.กาญจนบุรี กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ดร.ปณิธาน กล่าว
ขณะที่ ดร.วัลลภ กิ่งชาญศิลป์ ประธานสมาคมรักษาความปลอดภัยภาคพื้นเอเชีย ประจำประเทศไทย กล่าวเสริมถึงสาเหตุสำคัญของการสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินในพม่าว่า เป็นเพราะขาดการเตรียมการที่ดี ประชาชนไม่ตื่นตัวในการป้องกัน ไม่รับรู้ข่าวสารเท่าที่ควร ซึ่งภัยจากพายุนั้นมีการเตือนภัยและคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ฉะนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นกรณีศึกษาของคนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทย ที่จะต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะอยู่ในแนวที่ไซโคลนสามารถพัดผ่านได้เช่นกัน หรือกรณีเหตุแผ่นดินไหวในจีน เป็นอีกภัยธรรมชาติหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ เพราะเป็นภัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่า จะเกิดเมื่อใด รุนแรงขนาดไหน และที่สำคัญคือ ไทยนั้นอยู่ในรอยเลื่อนของผิวโลกด้วย ฉะนั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนัก และหาทางป้องกัน โดยเฉพาะอาคารสูง ที่จะต้องสามารถต้านแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ ทั้งนี้ หนทางที่จะลดความสูญเสียทั้งจากภัยธรรมชาติ และภัยในชีวิต ประจำวันนั้น จะต้องนำระบบความปลอดภัยเข้ามาใช้ ซึ่งในส่วนของความปลอดภัยจากภัยธรรมชาตินั้น คงจะต้องเป็นเรื่องของภาครัฐที่จะต้องจัดหา ทั้งระบบเตือนภัย และอุปกรณ์ในการกู้ภัย
ส่วนความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน และความเสี่ยงภัยจากโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ก็คงจะต้องหาอาวุธประจำกายที่เหมาะสม ขณะที่อันตรายจากอุตสาหกรรม ก็จะเป็นระบบสัญญาณเตือนภัยต่างๆ ทั้งอัคคีภัย (Fire Alarm) ระบบตรวจจับ (Sensor) ระบบแจ้งเหตุ และแผนผังของอาคารสถานที่ (Graphic Annunciation) ที่สามารถระบุจุดเกิดเหตุได้ชัดเจน เพื่อให้การระงับภัย และการช่วยเหลือ ทำได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม ในระหว่างวันที่ 1-3 ธันวาคมนี้ ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน Intersec Thailand 2008 ถือว่าเป็นการจุดประกายให้ทุกคนเห็นความสำคัญของระบบรักษาความปลอดภัย โดยมีการแสดงอุปกรณ์ High-Tech จากต่างประเทศ มาร่วมโชว์ภายในงาน
“ภัยธรรมชาติและภัยในรูปแบบต่างๆ ถือเป็นเรื่องใกล้ตัว ผู้คนมักจะมองข้ามความปลอดภัยเสมอ เมื่อเกิดเหตุแล้วถึงจะป้องกัน ซึ่งสายเกินไป เราต้องทำให้ประชาชนตระหนักถึงภัยอย่างต่อเนื่อง โดยสร้างจิตสำนึกว่าความปลอดภัยเป็นหน้าที่ของทุกคน และปลูกฝังความปลอดภัยไว้ตั้งแต่เล็ก ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกัน ก็จะลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์ได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว” ดร.วัลลภ กล่าวในที่สุด
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ : ฝ่ายประชาสัมพันธ์
ภัทรวดี ใจผ่อง(เอ) 086 334 1894, 085 239 8400
ฐปนีย์ จันทคัด(จุ๊) 081 534 5832

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ