กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธ.ก.ส.เผยเกษตรกรเข้าร่วมโครงการพักหนี้ 94 % ของผู้มีสิทธิ์ พร้อมจับมือเครือข่ายปราญช์ชาวบ้านจัดอบรมเข้ม เน้น 3 หลักสร้างทางเลือกในการแก้จน แจงผลงานวิจัยเกษตรกรพักหนี้รายคนเพื่อใช้แก้ปัญหาแบบตรงจุด พบมูลเหตุหนี้เกิดจากค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในครัวเรือน หนี้สินนอกระบบ และราคาผลผลิตตกต่ำ
บ่ายวันนี้ (12 มิถุนายน 2551) ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานใหญ่ นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ประธานมูลนิธิพัฒนาชนบท นายธำรง แสงสุริยจันทร์ ประธานสถาบันบุญนิยมเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย และนายวิชิต นันทสุวรรณ ประธานสถาบันพัฒนาทรัพยากรชุมชน ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือในการเป็นศูนย์การเรียนรู้หลักสูตรวิถีชีวิต ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่เกษตรกรในโครงการพักหนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบยั่งยืน
หลังเสร็จสิ้นพิธีลงนาม นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูและพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและยากจนตามนโยบายรัฐบาลผ่านระบบ ธ.ก.ส. เป็นระยะเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2551 — 31 มีนาคม 2553 ปรากฏว่า กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่มีหนี้เงินกู้คงเหลือ ณ สิ้นวันที่ 31 มีนาคม 2551รายละไม่เกิน 100,000 บาท มีจำนวนทั้งสิ้น 334,535 ราย จำนวนหนี้ 17,813 ล้านบาท จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นรวมทั้งสิ้น 316,387 ราย คิดเป็นร้อยละ 94.58 ของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด พบว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 296,335 ราย คิดเป็นร้อยละ 93.66 จำนวนหนี้ 15,495 ล้านบาท และมีผู้ที่ไม่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ จำนวน 20,052 ราย คิดเป็นร้อยละ 6.34 จำนวนหนี้ 768 ล้านบาท
นายธีรพงษ์กล่าวต่อไปว่า เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินและความยากจนของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอย่างตรงจุด ธ.ก.ส.จึงทำการวิจัยภาคสนามเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุแห่งปัญหา โดยการลงพื้นที่จริงและพบปะพูดคุยกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพักหนี้ทุกราย จำนวน 296,335 ราย ซึ่งผลการวิจัยพบว่ามูลเหตุของหนี้เกิดจากการมีค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในครัวเรือน 1206,760 ราย มีหนี้สินภายนอก 25,976 ราย ราคาผลผลิตตกต่ำ 20,960 ราย ทุพพลภาพเจ็บป่วยเรื้อรัง 8,064 ราย ปัญหาที่ดินถูกน้ำท่วมเสียหาย 6,788 ราย เจ้าของที่ดินไม่ให้เช่าที่ดิน 2,619 ราย ปัญหาน้ำท่วม 2,463 ราย ถูกราชการเวนคืนที่ดิน 108 ราย และปัญหาอื่น ๆ 22,597 ราย ซึ่งที่มาของปัญหาเหล่านี้ ธ.ก.ส.จะนำมาแยกแยะ เพื่อนำมาแก้ไขอย่างถูกวิธี รวมทั้งจะประสานงานส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น สาธารณสุข อบต. เข้ามาดูแลและช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น การรักษาพยาบาล การทำระบบชลประทาน การสร้างปัจจัยพื้นฐานที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนเป็นต้น
นอกจากผลวิจัยที่แสดงให้รู้ถึงปัญหาแล้ว ธ.ก.ส.ยังได้ร่วมกับศูนย์การเรียนรู้เครือข่ายการพัฒนาและปราญช์ชาวบ้านจำนวน 160 ศูนย์ ทั่วประเทศ จัดโครงการฝึกอบรม ใน 3หลักสูตร คือ หลักสูตรวิถีชีวิต โดยมุ่งปรับเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกรให้นำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต รู้จักการพึ่งพาตนเอง การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หลักสูตรวิถีทำกิน คือ การพัฒนาความรู้เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ความรู้เพื่อลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ลดปัญหาต้นทุนการผลิตและการเพิ่มผลผลิตในแนวทางที่ยั่งยืน หลักสูตรวิถีทางเลือก ได้แก่ การพัฒนาความรู้ที่เหมาะสมในด้านอื่น ๆ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้เสริมในกรณีที่เกษตรกรไม่สามารถกลับไปประกอบอาชีพแบบเดิมได้ เนื่องจากพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยหรืออายุมากทำไม่ไหว เป็นต้น ซึ่งทั้ง 3 หลักสูตร หากเกษตรกรนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง จะสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกืจโดยรวมด้วย นายธีรพงษ์กล่าว