กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--กบข.
กบข. ชี้ปัญหาสถานการณ์การออมของไทยน่าเป็นห่วง เร่งส่งเสริมการสร้างวินัยการออมที่เป็นระบบ พร้อมแนะ”โครงการออมเพิ่ม” เสริมทางเลือก
นางอมฤดา สุวรรณจินดา ผู้ช่วยเลขาธิการ สายสมาชิกสัมพันธ์และกิจกรรมสาธารณะ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่าปัจจุบันสถานการณ์ด้านการออมของประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 13.7 ของรายได้บุคคลต่อปีในปี 2542 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 8.0 ของรายได้บุคคลต่อปี ในปี 2547 ซึ่งในความเป็นจริงการออมในระดับบุคคลควรจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น และอยู่ในระดับที่สูงพอเพื่อเตรียมเข้าสู่วัยสูงอายุได้อย่างมั่นคง
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอสำหรับอนาคต เราทุกคนรวมถึงหน่วยงานต่างๆ จึงควรหันมาส่งเสริมนิสัยการออม ทั้งการออมด้วยตนเองและการออมผ่านระบบบังคับตั้งแต่อยู่ในวัยทำงาน เพราะถ้าไม่สามารถส่งเสริมให้คนมีการออมเพิ่มขึ้นตั้งแต่อยู่ในวัยทำงานจะส่ง ผลกระทบและสร้างความเสี่ยงที่จะเผชิญปัญหาความแร้นแค้นทางเศรษฐกิจในบั้นปลายชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม จากประเด็นดังกล่าวในปัจจุบัน กบข.ได้เปิดให้สมาชิก กบข.สามารถเข้าร่วมโครงการออมเพิ่มได้แล้ว โดยสมาชิกสามารถเลือกออมเพิ่มมากกว่าเดิมได้ตั้งแต่ร้อยละ1 ถึงร้อยละ 12 โดยเมื่อรวมกับเงินสะสมเดิมที่นำส่งตามกำหนดในกฎกระทรวงแล้วต้องไม่เกินร้อยละ15 ของเงินเดือน ทั้งนี้ รัฐยังคงส่งเงินสมทบและเงินชดเชยในอัตราเดิมคือร้อยละ3 และร้อยละ 2 ของเงินเดือน โดยเงินส่วนเพิ่มนี้สมาชิกจะได้รับเมื่อพ้นสมาชิกภาพเท่านั้น ไม่สามารถขอคืนระหว่างที่เป็นสมาชิกได้
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่สมาชิก กบข. จะได้รับจากการออมเงินสะสมส่วนเพิ่มนึ้ คือสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากภาครัฐ โดยสมาชิกจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในส่วนของเงินสะสมทั้งจำนวนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาทในแต่ละปีภาษี สำหรับส่วนของเงินที่ออมเพิ่มนั้น กบข. จะได้นำไปบริหารจัดการลงทุนเพื่อสร้างผลประโยชน์เพิ่มเติมให้กับสมาชิกต่อไป สมาชิกที่สนใจเข้าร่วมโครงการออมเพิ่มสามารถติดต่อขอรับ “แบบแจ้งความประสงค์ในการส่งเงินสะสมส่วนเพิ่ม” ได้ที่ส่วนราชการต้นสังกัดตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายสื่อสารสมาชิกและประชาสัมพันธ์ กบข. โทร.1179 กด 6 หรือที่เว็บไซต์ กบข. ที่ www.gpf.or.th
ยุวพร นนท์ภาษโสภณ
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ( กบข.)
Government Pension Fund
Tel. 02-636-1000 Ext.263 , 01-612-2322
Fax. 02-636-1691