กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--124 คอมมิวนิเคชั่นส
บรรยินลั่นเอาจริงปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จัดประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานัดแรก วางกรอบหลักการทำงาน มุ่งเน้นให้การป้องกันและปราบปรามบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม เดินหน้าเสนอแนะแนวทางมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพบุคลากร ขออำนาจโยกย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมผนึกกำลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมศุลกากรและหน่วยงานเกี่ยวข้องจัดชุดเฉพาะกิจปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั่วราชอาณาจักร
พันตำรวจโทบรรยิน ตั้งภากรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเปิดเผยการประชุมคณะกรรมการครั้งที่หนึ่งว่าเนื้อหาหลักของการประชุมได้แก่ 1.) การอำนวยการ ประสานงาน และตรวจสอบติดตามการปฏิบัติงานของส่วนราชการตลอดจนหน่วยงาน และองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม 2.) กำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา 3.) กำหนดแนวทางและเสนอแนะมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพบุคลากรโดยเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีในเรื่องการโยกย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา 4.) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน คณะที่ปรึกษาเพื่อรับผิดชอบการดำเนินการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการเฉพาะเรื่อง 5.) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรม
สอบสวนคดีพิเศษ และกรมศุลกากร จัดชุดเฉพาะกิจตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อปฏิบัติงานในการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั่วราชอาณาจักรภายใต้การอำนวยการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และให้รายงานผลการดำเนินงานให้นายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ
“ขอบเขตของทรัพย์สินทางปัญญาที่ต้องดำเนินการคือ ทรัพย์สินทางปัญญาทั้ง 6 ประเภท ได้แก่ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ แบบผังภูมิของวงจรรวม ความลับทางการค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยเน้นการดำเนินการเป็นพิเศษในด้านเครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์ กล่าวคือ ยาปลอม สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าทุกประเภท เช่น เสื้อผ้า เครื่องหนัง นาฬิ กา หนังสือละเมิดลิขสิทธิ์ เคเบิลทีวีละเมิดลิขสิทธิ์ ซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ และซอฟแวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยมีเป้าหมายเน้นที่ผู้กระทำละเมิดรายใหญ่ทั้งผู้ผลิต ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก และผู้นำเข้าส่งออก และให้มีการสืบสวนขยายผลจับกุมตัวการผู้อยู่เบื้องหลังการละเมิด ทั้งนี้พื้นที่ดำเนินการนั้นมีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (พื้นที่สีแดง) รวม 8 จังหวัด จำนวน 25 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชลบุรี สงขลา กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังรวม 6 จังหวัด 19 พื้นที่ คือ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ราชบุรี และพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ จุดนำเข้าและส่งออก ตลาดการค้าตามแนวชายแดน เช่น แม่สาย มุกดาหาร โรงเกลือ และตลาดค้าส่ง เช่น ตลาดโบ๊เบ๊ และตลาดสำเพ็ง เป็นต้น” พันตำรวจโทบรรยินกล่าว
“ที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาสองชุด ชุดหนึ่งทำหน้าที่ป้องกัน รณรงค์ และประชาสัมพันธ์การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และอีกชุดทำหน้าที่ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีเป้าหมายหลักคือแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้ได้ผล และทำอย่างไรให้การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหมดไป” พันตำรวจโทบรรยินกล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
อินทิรา ใจอ่อนน้อม สำนักประชาสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์
ปรัชญา จันทร์หอม โทร. 0-2547-4696
บริษัท 124 คอมมิวนิเคชั่นส จำกัด (มหาชน)
โทร. 0-2662-2266