iTAP หนุนผู้ประกอบการผลิตไบโอดีเซล ยกระดับคุณภาพการผลิตและคุณภาพน้ำมัน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 13, 2008 12:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--iTAP
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)
พพ.ชี้ดีเซลแพงล้ำหน้าเบนซิน ความต้องการไบโอดีเซล B100 สูงถึง 1.3 ล้านลิตรต่อวัน iTAP รับลูกหนุนผู้ประกอบการไบโอดีเซลพัฒนาศักยภาพการผลิต อาทิ เทคโนโลยีการผลิต การควบคุมการผลิตและคุณภาพของน้ำมันไบโอดีเซล รวมถึงการจัดการผลิตอย่างครบวงจร พร้อมจับมือนักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิคแก่ผู้ประกอบการ หวังให้ผู้ประกอบการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลสามารถผลิตน้ำมันที่มีคุณภาพและมีการจัดการที่ครบวงจร
สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ผันผวนส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลที่จำหน่ายในประเทศขณะนี้พุ่งสูงขึ้นแซงราคาน้ำมันเบนซิน ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมขนส่ง และคมนาคมขนส่งโดยรวม ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำมันดีเซลสูงสุดวันละ 48.2 ล้านลิตร หรือร้อยละ 41.9 ของการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมด และยังพบว่ามีความต้องการน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พลังงานทดแทนกลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจและให้ความสำคัญมากขึ้น
นายบุญส่ง เกิดกลาง รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันไบโอดีเซลในประเทศไทย” ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศไทยได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนเป็นร้อยละ 8 ของการใช้พลังงานทั้งหมดให้ได้ในปี 2554 ซึ่งขณะนี้มาถึงปี 2551 ประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนแล้วถึงร้อยละ 5 และยิ่งต้องประสบกับวิกฤตราคาน้ำมันแพงพลังงานทดแทนที่ได้รับความสนใจคือไบโอดีเซล โดยปัจจุบันมีการส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซล 2 รูปแบบ คือ ไบโอดีเซลชุมชน สำหรับนำไปใช้กับเครื่องยนต์ทางการเกษตร และไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ ที่นำไปใช้ผสมกับน้ำมันดีเซล โดยที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วประเทศคือน้ำมันไบโอดีเซล B2 ที่มีส่วนผสมไบโอดีเซลร้ยอละ 2
“จากความต้องการไบโอดีเซลที่มากขึ้น โดยจากข้อมูลยอดจำหน่ายไบโอดีเซลในเดือนเมษายน ปี 51 มีความต้องการใช้ไบโอดีเซล B100 ถึง 1,324,672 ลิตรต่อวัน ด้วยเหตุนี้ พพ.จึงมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซลโดยการส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ โดยจะส่งเสริมให้ขยายพื้นที่การปลูก 2.5 ล้านไร่ ในปี 2551-2555 ส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ โดยการบังคับให้มีการจำหน่ายไบโอดีเซล B2 ทั่วประเทศตั้งแต่เดือนมิถุนายน 50 และให้จำหน่ายไบโอดีเซล B5 เป็นพลังงานทางเลือกตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา รวมถึงวางแผนให้มีการจำหน่าย B5 ทั่วประเทศ และจำหน่าย B10 เป็นพลังงานทางเลือกในปี 2554”
รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. กล่าวว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซลแก่ผู้ประกอบการทั่วไป โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จึงเข้าไปมีส่วนในการวางแผนให้คำแนะนำกลุ่มผู้ประกอบการ ทั้งในด้านเทคโนโลยีการผลิตระบบไบโอดีเซลที่มีคุณภาพ การศึกษาคุณภาพน้ำมันไบโอดีเซลกับเครื่องยนต์ที่ใช้งาน การวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพน้ำมันไบโอดีเซล การจัดการภายในโรงงาน รวมถึงระบบการบำบัดน้ำเสียและการนำผลิตผลพลอยได้มาใช้เพื่อก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น
“โครงการ iTAP มีบทบาทในการเป็นหน่วยงานเชื่อมประสานระหว่างผู้ประกอบการเอกชนกับหน่วยงานวิจัย เพื่อช่วยตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการในการพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆในกระบวนการผลิตไบโอดีเซล โดยที่ผ่านมา iTAP ได้มีการสำรวจข้อมูลความต้องการผู้ประกอบการพบว่าปัญหาและความต้องการในอุตสาหกรรมไบโอดีเซลไทย คือ การควบคุมกระบวนการผลิต ควบคุมคุณภาพน้ำมัน การจัดการของเสีย และผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต ซึ่งโครงการฯ จะจัดหานักวิจัยที่สามารถให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ รวมถึงสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายบางส่วน”
ทั้งนี้ ปัญหาหนึ่งที่นับว่ามีความสำคัญมากสำหรับการผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ คือ การควบคุมคุณภาพไบโอดีเซล โดยไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์จะต้องผ่านมาตรฐานคุณภาพ 24 ข้อ เพราะหากกระบวนการผลิตไบโอดีเซลไม่ได้คุณภาพ มีการปนเปื้อนของสารต่างๆ หรือเก็บรักษาไม่ดีทำให้ไบโอดีเซลเสื่อมสภาพ อาจส่งผลต่อเครื่องยนต์ได้ ทว่าการตรวจคุณภาพไบโอดีเซลทั้ง 24 ข้อนั้นต้องอาศัยการลงทุนสูง การซื้อเครื่องตรวจคุณภาพ หรือส่งตรวจตามศูนย์บริการยังมีราคาสูงอยู่มาก ด้วยเหตุนี้ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) จึงได้มีการพัฒนา “ ชุดTest kit ” ขึ้น เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพเบื้องต้นของไบโอดีเซลให้มีความสะดวกและมีราคาถูกขึ้น โดยเน้นการใช้งานที่ไบโอดีเซลระดับชุมชน
นายวิทูรัช กู๊ดวิน ผู้ช่วยนักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า คุณสมบัติของไบโอดีเซลที่มีคุณภาพจะมีการเปรียบเทียบกับคุณสมบัติของน้ำมันดีเซล อาทิ ค่าความหนึด จุดวาบไฟ ความชื้น ค่าความร้อน ค่าความเป็นกรด และค่าซีเทน เป็นต้น เพื่อให้สะดวกต่อการวิเคราะห์คุณภาพของไบโอดีเซล เอ็มเทคจึงได้ทำการพัฒนาชุด Test kit ขึ้น โดยการพัฒนาอุปกรณ์ และสารเคมีที่มีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการสามารถใช้ตรวจเองได้ และในเบื้องต้นได้พัฒนาขึ้น 2 ชุด คือ ชุดวิเคราะห์ความเป็นกรดของไบโอดีเซล และชุดวัดความหนึดของไบโอดีเซล อย่างไรก็ดีหากผู้ประกอบการต้องการรายละเอียดเกี่ยวกับการตรวจคุณภาพไบโอดีเซลทั้ง 24 ข้อ สามารถติดต่อที่กระทรวงพลังงานเพื่อขอรับคำแนะนำได้
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันไบโอดีเซลอย่างมีคุณภาพและครบวงจร สามารถติดต่อได้ที่ คุณภาวิณี อนุสรณ์เสรี โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1371 หรือ E-mail : pavinee@tmc.nstda.or.th
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) โทร.0-2270-1350-4 ต่อ 114,115

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ