กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--ปภ.
ศปภ.เขต ๑๐ ลำปาง ซ้อมแผนเผชิญวิกฤตการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว ขนาดรุนแรง EQ-EX ๐๘ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต ๑๐ ลำปาง ร่วมกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการฝึกซ้อมแผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปี ๒๕๕๑ แผนเผชิญวิกฤตการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวขนาดรุนแรง EQ-EX ๐๘ ในวันพุธที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ ณ อาคาร เฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบ พระชนมพรรษา วิทยาลัยพลศึกษาเชียงใหม่และสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อ ให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าเผชิญเหตุ ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดแผ่นดินไหวในบริเวณ ประเทศต่างๆ ที่อยู่รอบประเทศไทย ซึ่งบ่อยครั้งมากขึ้น แม้เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวจะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย แต่เนื่องจาก พื้นที่ภาคเหนือตอนบน ของประเทศไทย ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ ประกอบกับแผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติ ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ การเตรียมความพร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถปฏิบัติการตอบโต้ภัยแผ่นดินไหว ได้อย่างมีประสิทธิภาพและ การให้ความรู้เกี่ยวกับ การปฏิบัติตนในเบื้องต้น กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว ด้วยการจัดให้มีการฝึกซ้อมแผนเผชิญฉุกเฉิน แนวทางหนึ่งจะช่วยลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๑๐ ลำปาง จึงได้ร่วมกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ดำเนินการฝึกซ้อมแผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปี ๒๕๕๑ แผนเผชิญวิกฤตการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวขนาดรุนแรง EQ-EX ๐๘ ในวันพุธที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๓๐ น. ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบ พระชนมพรรษา วิทยาลัยพลศึกษาเชียงใหม่ และสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยจำลองสถานการณ์เกิดแผ่นดินไหวขนาด ๗.๖ ริกเตอร์ ซึ่งมีศูนย์กลางบริเวณอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้รับความเสียหาย เป็นบริเวณกว้าง ทำให้มีผู้เสียชีวิตผู้บาดเจ็บ และสูญหายเป็นจำนวนมาก สำหรับการฝึกซ้อมแผน แบ่งเป็น รูปแบบ ดังนี้ การฝึกซ้อมแผนในที่บังการ (Command Post Exercise : CPX) เพื่อประชุมซักซ้อมทำความเข้าใจขั้นตอนปฏิบัติการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และการฝึกซ้อมแผนแบบปฏิบัติการจริงในพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครและมูลนิธิต่างๆ ได้ประสานการปฏิบัติงาน สามารถเข้าเผชิญเหตุ ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนกระตุ้นเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยตระหนักถึงผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว สามารถช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้นได้อย่างปลอดภัย หากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในพื้นที่