กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--ปภ.
ศปภ.เขต ๒ สุพรรณบุรี จัดซ้อมแผนป้องกันและระงับอัคคคีภัยในอาคารสูง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๒ สุพรรณบุรี ร่วมกับ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุพรรณบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคกลาง กำหนดจัดการฝึกซ้อมแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคารสูงระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปี ๒๕๕๑ ในพุธที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ ณ อาคารอำนวยการ ๗ ชั้น โรงพยาบาล สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๗ ถนนบางลี่ — หนองวัลย์เปรียง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเตรียม ความพร้อมให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถระงับอัคคีภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภาวะฉุกเฉิน ได้อย่างทันท่วงทีเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันอัคคีภัยมีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะหากเกิดในอาคารขนาดใหญ่ อาคารสูง และเขตพื้นที่ชุมชนหนาแน่น จะยิ่งสร้าง ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล แนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดความสูญเสียได้ คือ การเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีทักษะและประสบการณ์ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดังนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต ๒ สุพรรณบุรี จึงได้ร่วมกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุพรรณบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคกลาง กำหนดจัดการฝึกซ้อมแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคารสูงระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปี ๒๕๕๑ ในวันพุธที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ ณ อาคารอำนวยการ ๗ ชั้น โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๗ ถนนบางลี่ — หนองวัลย์เปรียง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยจำลองเหตุเพลิงไหม้บริเวณ ชั้นบนของอาคารอำนวยการ ๗ ชั้น โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๗ ในเขตพื้นที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ทำให้เกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ การซ้อมแผนในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถปฏิบัติงานระงับอัคคีภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภาวะฉุกเฉิน ได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้การระงับเหตุอัคคีภัยในพื้นที่เป็นระบบและ มีประสิทธิภาพ อีกทั้งทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความเชื่อมั่นในระบบและมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน